วันพฤหัสบดีที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

เพราะว่า… เรามีชีวิต


ตำบลชายคลองนายไข่เคว็ด บ้านโคกหม้อ *




เราต่างต้องการความสุข… ความสุขแห่งชีวิตเป็นสิ่งปรารถนาของคนเรา การแสวงหาความสุขจึงมีหลากหลาย เป้าหมายประสงค์คือต้องการเติมเต็มความรู้สึกที่คิดว่า “ตนเองพร่อง” นั่นเป็นเพราะธรรมชาติของมนุษย์มองว่าตนเองขาดหายจากสิ่งใดสิ่งหนึ่งจึงพึงแสวงหามาใส่ไว้ในตน โลกคือหมู่สัตว์จึงเป็นในรู้สึกว่า “โลกนี้พร่องอยู่เสมอ” ที่เป็นดังกล่าวเพราะว่า… เรามีชีวิต ชีวิต คือการเป็นอยู่ในขณะๆ มีสภาพไหวเคลื่อน เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ไหวเคลื่อนทั้งในลักษณะหยาบและในลักษณะละเอียด เมื่อใดจิตใจรู้สึกทุกข์ และรู้สึกสุข (ขณิกสุข-สุขเพียงบางขณะ) เป็นไปในลักษณะหยาบ เมื่อใดจิตใจรู้สึกไม่สุขไม่ทุกข์ ดำรงอยู่อย่างเท่าทัน ไม่ไหวคลอนไปตามอารมณ์เป็นไปในลักษณะละเอียด ความเป็นอยู่ จึงมีสองลักษณะนี้ ลักษณะหยาบและละเอียดนี้เป็นชะตากรรมที่จะทำให้การดำรงชีวิตของคนเราดำเนินไปอย่างนั้นๆ จึงเรียกว่า วิถีชีวิต การกำหนดวางเป้าประสงค์ชีวิตตามแรงใจปรารถนา ตามความต้องการขั้นพื้นฐาน หรือใฝ่ฝันใดๆจึงสบทางกันที่ตรง “วิถี” นั่นเอง ดังนั้น การสร้างหรือแสวงหาความสุขแห่งชีวิตจึงเกิดหลากหลายบนความหยาบหรือละเอียดที่คนเราเป็นอยู่ในขณะๆ การดิ้นรนต่อสู้ ศักดิ์ศรี อิสรภาพ สิทธิ เสรีภาพ ฯลฯ จึงถูกหยิบยกมาเป็นบริบทหลักของการดำรงสถานะเพื่อบอกเล่าความเป็นตัวตนของตนของคนเราแต่ละคน และเกิดการ “สร้างทาง” จากสำนึกรู้และกระบวนการจัดการความรู้ตามสติปัญญา ศรัทธาเชื่อมั่นที่ตนเองมีอยู่ในกมลขันธ์ เราจึงเห็นว่า โลกนี้โกลาหล เพราะหมู่สัตว์ต่างอยู่ในทฤษฎีโกลาหลที่ต่างจัดวางความเป็นระเบียบแก่ชีวิตและสังคม โลก โมเดลการพัฒนาจึงถูกนำเสนอออกมาเป็นฉากๆ อย่างกับภาพยนตร์บนผืนจอและเป็นขบวนอย่างกับรถไฟ ทั้งหมดสวนทางไปมาอย่างกับอยู่ในสนามเด็กเล่น ฮาวทูถ้อยคำสำเร็จรูปจึงเต้นรำอยู่บนวอลล์ กระดาษแห่งธุรกิจค้าปลีกค้าย่อยและขายส่งกลิ่นน้ำหมึกผสมกลิ่นชีวิตบนแผงหนังสือทั้งในห้าง ข้างร้านชำ ริมฟุตบาท ป้ายรถเมล์ และในศาสนสถาน ทั้งหมดเกิดขึ้นเพราะคนเรานั้นเป็นมนุษย์ผู้แสวงหา และไม่ปรากฏสิ่งอื่นใดเลยที่จะเป็นคุณเครื่องอุปกรณ์แก่ชีวิตเท่ากับการเริ่มต้นการตั้งต้นเรียนรู้สรรพสิ่งทั้งหลายด้วยหัวใจชีวิตของตนเอง โมเดลการพัฒนาจากถ้อยคำนั้นๆ เป็นปลายทางของผู้สร้าง แต่เป็นต้นทางของผู้เรียนรู้ เป็นรูปแบบ ที่เราต้องนำมาสร้างให้เกิดกระบวนการด้วยเนื้อหาและน้ำเนื้อหัวใจชีวิตเราเอง การถึงฝั่งอย่างไรนั้น เราคือผู้เป็นเอง เพราะว่า… เรามีชีวิต จึงได้นำเสนอประเด็นการเรียนรู้ทางสู่ชีวิตที่สมดุลและมีความสุข ซึ่งเป็นประมวลประสบการณ์เรียนรู้ของคนเรา ชาวบ้านๆ ส่วนหนึ่งที่ตั้งต้นเรียนรู้ด้วยวัฒนธรรมการเรียนรู้ใหม่ กระบวนการเรียนรู้ใหม่ และบรรยากาศการเรียนรู้ใหม่ สังเคราะห์องค์ความรู้ดังกล่าวนี้โดยสถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชน และได้นำไปสร้างกระบวนการเรียนรู้แก่ชาวบ้านในชุมชนท้องถิ่นโดยการจัดการศึกษาทางเลือกแนวใหม่ของการอุดมศึกษาไทย ประเด็นหลักคือเป็นเพียงหนึ่งรูปแบบที่ไม่ใช่สิ่งสำเร็จรูป แต่เป็นต้นทางให้เกิดกระบวนการเรียน รู้จักตนเองในด้านรากเหง้าชีวิตที่เป็นทุนชีวิต เรียนรู้ทุนทรัพยากร ทุนปัญญา ทุนทางสังคม และเรียนรู้สถานภาพตนเองด้านรายได้ เงินออม รายจ่าย เพื่อนำวิเคราะห์กำหนดทำแผนชีวิต แผนอาชีพ แผนการเงิน และแผนสุขภาพเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตตนเองอย่างบูรณาการและเป็นระบบ ผลสนองตอบย่อมเกิดจากทางปฏิบัติที่ลงมือเรียนรู้ปฏิบัติดีแล้วอย่างเป็นขั้นตอนด้วยความเข้าใจและมุ่งมั่นด้วยพันธะชีวิต เพราะว่า… เรามีชีวิต การแสวงหามรรคาเพื่อนำไปสู่ชีวิตที่มีความสุขจึงเป็นหน้าที่ การเป็นอยู่ด้วยความทุกข์ไม่ใช่หน้าที่ พันธะชีวิตที่ถึงพร้อมคือการเดินไปบนมรรคาที่พร้อมมูล เพราะว่า… เรามีชีวิต ขอรักคือการเป็นอยู่ซึ่งกันและกันได้ดำเนินอยู่กับทุกคน
* อาจารย์ประจำ สถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชน (มหาวิทยาลัยชีวิต) www.life.ac.th

วันพุธที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2550

บทกวีของฉัน

บทกวีของฉัน



คือที่ที่ซึ่งใช้เป็นห้องหับแห่งการนอนหลับ
เพื่อฝันถึงเธอผู้เป็นที่รัก
คือคอนโดฯ หลายๆ ห้องที่ให้อยู่ฟรีแก่ผู้ที่รู้สึกอกหัก
คือรังหนูที่รกเรื้อไปด้วยถ้อยคำของนักพรต
ผู้ไม่อาจตัดสวาทจากหญิงสาวที่เขาหลงรักอย่างโงหัวไม่ขึ้น
คือถ้อยคำที่นักบวชผู้หลงโลกย์
ใช้เป็นที่สำเร็จความใคร่ของจินตนาการ
คือลำดับและความศักดิ์สิทธิ์ของคำรัก
ที่จะต้องใช้ภาวนาเพื่อทำให้รู้สึกว่า
ตนเองเต็มเปี่ยมไปด้วยรักที่สมหวัง
คือที่อยู่หรือที่ฝังของเสาเข็มความรู้สึกนึกคิด
ที่ผู้สร้างมันขึ้นมาไม่อาจขว้างทิ้งลงโถชักโครก
คือหญิงสาวที่เขาหลงรักและมอบใจให้ทั้งหมด
คือสัดส่วน 34-24-36
อกตึง เอวมน สะโพกผาย
และที่สุดคือที่ตายของผู้ชายคนหนึ่ง



มทิรา กามา
บนเปลผ้า อาศรมเนตตา

ทางชีวิต

กฎของการกระทำกรรมดีชั่ว
ย่อมพันพัวตัวตนคนชายหญิง
เป็นเหตุผลเที่ยงแท้แน่นอนจริง
ที่เป็นสิ่งประสพอยู่ทุกผู้คน

จะมืดหรือสว่างทางชีวิต
เหมือนลิขิตขีดเส้นเป็นเหตุผล
ผลักดันให้แปรเปลี่ยนหมุนเวียนวน
ซึ่งผจญทุกเวลาไม่ว่าใคร

ประกอบกรรมทำดีย่อมมีสุข
ปลดเปลื้องทุกข์วิบัติบัดไถม
จะสดชื่นรื่นเริงบันเทิงใจ
เหล่าเวรภัยนานาไม่ราวี

ชนชายหญิงพากันสรรเสริญ
ได้เจริญเกียรติงามตามวิถี
ด้วยเมตตารักใคร่ผูกไมตรี
ต่างยินดีคบค้าสมาคม

ถ้าแม้นทำชั่วตัวมัวหมอง
ตนนั้นต้องตกอับทุกข์ทับถม
ทางชีวิตมืดมนจนต้องขม
เศร้าระบมเข็ญใจไม่เว้นวัน

อีกปวงชนทั่วไปไม่เกรงขาม
บ้างประณามหยามเหยียดคิดเดียดฉันท์
กล่าวติฉินนินทาสารพัน
ทุกสิ่งอันมีแต่ชั่วเกลือกกลั้วกัน

ซ้ำเผชิญทุกข์ภัยไม่ละลด
ใจสลดอดสูอยู่ไม่หาย
ผิดแนวทางจึงตกขมเพราะงมงาย
ด้วยเหตุร้ายรุมรึงคอยดึงพา

อันกรรมดีกรรมชั่วที่ตัวสร้าง
ล้วนเป็นทางนำสุขทุกข์มาหา
ใครทำดีได้ดีมีราคา
เกิดคุณค่ามากมายหลายประการ

ใครทำชั่วได้ชั่วมัวแต่เศร้า
จะร้อนเร่าเรื่องร้ายหลายสถาน
จึงควรที่ท่านหญิงชายได้วิจารณ์
เลิกเป็นพาลเสียทีจะดีงาม ฯะ๙




อ. คุรุการเกษตร

๒๕ กรกฎ. ๐๖ / ๑๐.๑๕ น.
บ้านปากคลอง พัทลุง


* ตีพิมพ์ใน หนังสือพิมพ์ “ไทยทักษิณ” ปี ๒๕๐๖

บทแสดงวัตรของกัลยาณชน

ปฐโม อรุโณ เสโตฯ

อิทานิ อรุโณทยํ อาปุจฺฉามิฯ
บัดนี้ ฉันบอกกล่าว อรุโณทัย
อรุโณทัย อรุโณทัย แจ้งสว่างแล้วโว้ย...
ฉันนุ่งสบงพระวินัย ( อา. ปา. มะ. จุ. ปะ. )
คาดประคตเอว ทำใจให้มั่นแน่น อิมํ กายพนฺธนํ อธิฏฺฐามิฯ
ห่มจีวรพระสูตร ( ที. มะ. สัง. อัง. ขุ. )
แล้วหยิบสังฆาฏิพระอภิธรรมขึ้นพาดบ่า
( สัง. วิ. ธา. ปุ. กะ. ยะ. ปะ. )
เพื่อให้ดูสง่างามพร้อมใจที่รู้ ธรรมธาตุทั้งปวง

ทุติโย ตามฺพมํ เจวฯ

อยํ อตฺตภาโว อสุจิ อสุภํ
มรณปริโยสานํ
กมฺมฏฺฐานํ ภาเวติฯ

ฉันห่มครองเรียบร้อยแล้วนั่งลงพิจารณาอัตตภาพ
เจริญกรรมฐาน ไม่สะอาด ไม่งาม
มีความตายเป็นที่สุดรอบฯ
ถวายเครื่องสักการะแด่พระพุทธเจ้า พระธรรมเจ้า พระสังฆเจ้า
พุทฺธํ ให้แจ้ง ธมฺมํ ให้สว่าง สงฺฆํ เบิกทางให้สว่างคือดวงแก้วฯ
แล้วสวดมนต์บทสรรเสริญพระพุทธคุณ
อิติปิโส ภควา
อรหํ สมฺมาสมฺพุทฺโธ ฯเปฯ
และบทพาหุงฯ อันแสดงความเชิดชู เทิดทูน-
สรรเสริญคุณพระพุทธเจ้าอย่างยิ่ง...
จบลงด้วยการกรวดนํ้าให้แด่สัตว์โลก
จากนั้นฉันก็พิจารณาขณะของปัจจัยทั้งสี่
เพื่อกำหนดรู้และใช้อย่างถูกต้อง

ตติโย โอทาโตฯ

ก่อนยามแห่งอรุณที่สี่จะย่างถึง
ฉันจักไม่นอนลงให้กิเลสมันขี่คออีก
จักใช้เวลาที่เหลือตริตรองธรรม
ท่องบ่นพระคัมภีร์
แสดงความผิดกับสหธรรมิกเพื่อไม่ให้อาบัติข้ามวันคืน
และฉันจักบอกกล่าวแก่ตนเองว่า-
วันหนึ่งผ่านไปแล้วโว้ย วันหนึ่งผ่านไปแล้วโว้ย
จักได้ทำอะไรให้มันถูกต้องตามกิจและกาลกำหนดของวัน

จตุตฺโถ นนฺทิมุโขฯ

วันใหม่ขณะแห่งอรุณที่สี่
ฉันเปลื้องจีวรครอง นุ่งห่มจีวรเก่า
หยิบบาตรขึ้นมาดู แล้วควานมือลงไป
ด้วยคำภาวนา-
จตฺตาโร สติปฏฺฐานา,
กายานุปสฺสนา สติปฏฺฐานํ เวทนานุปสฺสนา สติปฏฺฐานํ
จิตฺตานุปสฺสนา สติปฏฺฐานํ ธมฺมานุปสฺสนา สติปฏฺฐานํ ฯ
ตั้งตนไว้ในที่อยู่ไม่ไปปราศจากสติ สติอวิปฺปวาโสฯ
แล้วถือบาตรเดินไปตามย่านบ้าน
ด้วยคำภาวนา-
สพฺเพ สตฺตา อเวรา โหนฺตุ
อพฺยาปชฺฌา-อนีฆา-สุขี อตฺตานํ ปริหรนฺตุฯ
หยุดยืนสงบนิ่งหน้าบ้านทายก-ทายิกาผู้ศรัทธาในพระไตรรัตน์
นามรูปํ อนิจฺจํ นามรูปํ ทุกฺขํ นามรูปํ อนตฺตาฯ
ก้อนข้าว ตกลงในบาตรแสดงความร้อนผ่านบาตรเหล็ก
นิสฺสตฺโต นิชฺชีโว สุญฺโญฯ
ฉันขอบคุณผู้ศรัทธา ด้วยพระบาลีในใจว่า-
จตฺตาโร ธมฺมา วฑฺฒนฺติ
อายุ วณฺโณ สุขํ พลํ ฯ
และ เอวํ โหตุฯ ขอความปรารถนาของท่านจงสำเร็จ...
ฉันกลับมาถึงอาราม
วางบาตรลงด้วยพระคาถาว่า-
อิทานิ อาหารคเวสิ
ทุกฺขํ สํเวควตฺถูติ วุจฺจติฯ
ความทุกข์อันเนื่องด้วยการแสวงหาอาหาร ในกาลนี้
อันท่านกล่าวว่า เป็นวัตถุแห่งความสังเวค...

ฉันนุ่งพระวินัย ห่มพระสูตร พาดพระธรรม
จิตใจของฉันขลัง
มีพลังยึดเหนี่ยว
ด้วยความศักดิ์สิทธิ์แห่งพุทธรังษีทฤษฎีญาณ
ฉันขอกราบขอบพระคุณ
พระอุปัชฌาย์ แลพระอาจารย์
ที่ได้สอนสั่งให้มั่งคง
ดำรงตนอยู่ได้ในร่มกาสาวพัสตร์
โดยไม่ปล่อยไปตามบุญ ยถากรรม
ฉันจักขอน้อมนำพระธรรมวินัยมาปฏิบัติขัดเกลาตนเองทุกเมื่อ
เพื่อไม่ให้ร้อนฯ


๏ นุ่งพระวินัย ห่มพระสูตร พาดพระอภิธรรม เป็นเหมือนคำอุปมา พระวินัยป้องกันไม่ให้ทำชั่ว ทำผิด, พระสูตรแสดงซึ่งความดับทุกข์, พระอภิธรรมให้สง่าราศีสูงสุด เพราะทำให้เรามีความรู้ธรรมะขั้นละเอียด ลึกซึ้ง
ขอให้เราได้นุ่งพระวินัย ห่มพระสูตร พาดพระอภิธรรมได้อย่างถูกต้องกันทุกคน สาธุ ฯ

*หมายเหตุกถา เขียนขึ้นมาจาก “การทำวัตรแบบโบราณ” ท่านอาจารย์พุทธทาสภิกขุ ใน เสขิยธรรม ฉบับที่ ๒๓ ปีที่ ๔ กรกฎาคม-กันยายน พ.ศ. ๒๕๓๗

วันเสาร์ที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2550

"อิตถีหทัย" พันธะกวีนิพนธ์ นัยพินิศของสตรี-เพ็ญ ภัคตะ

"อิตถีหทัย" พันธะกวีนิพนธ์ นัยพินิศของสตรี
เพ็ญ ภัคตะ
สำนักพิมพ์รูปจันทร์ พิมพ์ครั้งที่ ๑ มีนาคม ๒๕๕๐ ราคา ๘๕ บาท

เพ็ญ ภัคตะ กวีสาวสวยที่สุดในโลก ผู้ยืนหยัดในความเป็น กวิณี หรือ อิตถีกวี
มีผลงานเล่มล่าสุดในรายชื่อรวมบทกวีที่เข้าชิงรางวัลซีไรท์ปีนี้

ดร. เพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์ คือชื่อ นามสกุลจริงของเธอ เปิดเผยทั้งนามสกุลเดิม และของสามีผู้เป็นที่รักยิ่ง เธอคือ หญิงสาวผู้สง่างาม บัณฑิตและมหาบัณฑิตผู้ยาตราจากคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากรและ ปริญญาเอก สาขาประวัติศาสตร์ศิลปะ จากมหาวิทยาลับโลซานน์

อิตถีหทัย
เป็นหนังสือรวมบทกวี ที่ต่อเนื่องมาจากเล่ม “เหนือฝั่งมหานที” ปี 2544
ในเล่มนี้บอกเล่าถึง ภาระ พันธะ อิตถี.. ความเป็นเมีย แม่ ลูก ทั้งในพื้นที่ สรีระ วัฒนธรรม ชาติพันธุ์ ผู้หญิงตะวันตก ผู้หญิงตะวันออก ผู้หญิงโลกเก่า ผู้หญิงโลกใหม่ด้วยลีลาฉันทลักษณ์ตามขนบโบราณที่ได้อารมณ์ด้วยคำแห่งสมัยทั้งโคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน และคำอธิบายศัพท์คำเมืองล้านนา
ลองอ่านบางบท-

หญิงแบกโลกครึ่งหล้า ฤาไฉน
มือหนึ่งดับเปลวไฟ เปลี่ยนฟ้า
อีกมือกวัดไกว รักกล่อม
หญิงแบกโลกหมดหล้า มอบแล้วมิเหลือ

ผู้หญิงครองพื้นที่ สีขาว
มองโลกเหมือนดวงดาว ดอกไม้
ถึงใครหยาดรอยคาว ฤทัยขุ่น
หวานมิมอดมลายไร้ ไป่สิ้นรสสุคันธ์

เรื่องราวเรียงหยิบร้อย กวีราย
อดีตมุ่งปัจจุบันหมาย เปิดแง้ม
ตะวันออกสุดขอบชาย ตะวันตก
พื้นที่ผู้หญิงแย้ม ตอกย้ำพันธนา

(บางบทของ อิตถีหทัย : โคลงสี่สุภาพ)

*******
น้ำตายโสธรา

๐ ธาราฤาหยั่งรู้ ยโสธรา
รินร่ำหลั่งน้ำตา ไป่แห้ง
โหยหวลสุดเทวษหา สิทธัตถะ
ทรวงอกน้องเหือดแล้ง แหลกแล้วพี่เอย

๐ ความรักเพิ่งเริ่มต้น แตกกอ
ยังบ่ทันเคลียคลอ ลูกน้อย
เรือนหอเพิ่งเริ่มหอ เหินห่าง
อุ้มลูกตามติดต้อย อย่าทิ้งยโสธรา

๐ น้ำตาน้องท่วมฟ้า ฟูมฟาย
กัณฐกะควบลับหาย ห่างหล้า
ไม่ตายก็เหมือนตาย ใจแตก สลายเฮย
ทารกต้องกำพร้า ไป่รู้ชะตากรรม

๐ น้องเลวน้องชั่วช้า ไฉนฤา
ความผิดอันใดหรือ จึ่งร้าง
สัญญาบ่ยึดถือ เลือดขัตติ-ยานา
กุศลก่อนเราร่วมสร้าง สุดสิ้นกรรมไฉน

๐ น้ำตารินรดแก้ม ราหุล
โอ๋..พ่อเจ้าประคุณ ยั่วยิ้ม
มิรู้ดอกหรือบุญ ขวัญแม่
ชีวิตเจ้าเนื้อนิ่ม ชวดแล้วชนกา

๐อับอายทั่วแผ่นฟ้า ผืนดิน
ชนหมิ่นแคลนติฉิน แม่หม้าย
เทวีแห่งนครินทร์ เลอลักษณ์
ความรักสิโหดร้าย บ่แม้นสามัญ

๐พี่ยามุ่งบ่ายหน้า แสวงบุญ
แต่อกน้องดั่งจุณ โปรดรู้
อาลัยสวาทละมุน สวามิ
กลับบอกให้น้องสู้ ฝ่าสิ้นกระแสกรรม

๐พี่ไปเพื่อเสาะค้น ปัญญา
เพลิงแห่งปรารถนา หลุดพ้น
อภัยแด่ภัสดา ด้วยเถิด
ชลเนตรพลอยขุ่นข้น อย่าร้องเลยขวัญ

๐น้ำตาทุกหยดสร้าง กามภพ
เกิด-ดับมิรู้จบ จิตเจ้า
ชาตินี้ปิดฉากรบ และฉาก รักเทอญ
สิ้นสุดแห่งกองเถ้า อย่าเศร้า ยโสธรา

๐น้องทุกข์พี่ทุกข์ด้วย ดั่งเดียว
บ่วงแห่งราหุลเรียว รัดร้อย
ใช่ทิ้งทอดแท้เทียว อุทิศทุ่ม ธรรมนา
แม้คนไกลไป่คล้อย จักย้อนคืนเรือน

๐ยกมือขึ้นปาดน้ำ ตาคะนึง
ฝืนข่มความคิดถึง กระอักท้น
ปางตายแต่ยังตรึง ใจตรึก
รอพี่เพียรหลุดพ้น เทศน์น้องอริยธรรม

(โคลงบท " น้ำตา..ยโสธรา"
เพ็ญ ภัคตะ นำมาอ่านเป็นครั้งแรก ณ ลานสนาม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ซึ่งเธอเขียนโดยถอดหัวใจพระนางยโสธรา ณ หนึ่งราตรีกาล
เมื่อสองพันกว่าปีที่ล่วงมา ในคราวที่พระสวามี เจ้าชายสิทธัตถะ
ทรงเสร็จออกผนวช และโดยดวงใจของเธอเองที่
ชายหนุ่มผู้เป็นที่รักออกบวช จนทำท่าว่าจะไม่ลาสิกขาออกมาแต่งงาน)

บทสนทนาในบ่ายวันหนึ่ง

มทิรา กามา


หิมะราตรี 01:59:52
ดำดิ่งสู่หุบเหวค้นหาชั่วกัลป์
ดอกราตรีแห่งรัตติกาลฟุ้งกระจายอย่างโหยหวน
ผ่านทิวา 01:59:53
รัตติกาลช่างเนิ่นนาน วาระก้าวผ่าน ทิวา
เฉกชีวิต ผลิเนิ่น ณ ห้วงเพลินรัตตี
ขณะนี้
หิมะพรากจากพ้น
ผ่านทิวา 02:01:54
สวัสดีครับ
หิมะราตรี 13:27:41
แสนสวย
ผ่านทิวา 13:33:00
พระจันทร์ยามบ่าย
หิมะราตรี 13:28:59
พระจันทร์ก้ออยู่ตรงนั้นตลอดเวลาเพียงแต่แสงอาทิตย์มาบดบัง
ผ่านทิวา 13:34:20
หิมะมิได้ละลาย
อนิจจตาห่างหาย
หิมะราตรี 13:30:43
ละลายละเหยละเหิดแล้วก้อกลั่นตกมาอีกระรอก
ผ่านทิวา 13:36:07
จ๊อก...จ๊อก....
ผ่านทิวา 13:36:32
คล้าย ๆ
ความเกิด ดับ ตาย
หิมะราตรี 13:32:27
ไม่วนเวียนมาเกิด
ผ่านทิวา 13:37:21
ละม้าย ๆ คล้ายคลึง
หิมะราตรี 13:34:01
เชื่อว่าเมื่อกายละเอียดละกายหยาบน่าจะจบสิ้นหนึ่งชีวิต
เป็นดับสูญชั่วนิรันดร์
ผ่านทิวา 13:39:34
เทศนาแสดงวัจนะประหนึ่งหิมะราตรี
หิมะราตรี 13:35:17
ไม่เทศนา
ไม่สามารถ
ผ่านทิวา 13:40:18
ชีวีมิอาจดับสูญ
หิมะราตรี 13:35:41
ไม่เคยล่วงรู้ได้มากมายขนาดนั้น
เข้าใจคนละทาง
ผ่านทิวา 13:40:35
ยังคงครองอนิจจธรรม
หิมะราตรี 13:36:09
เราแตกดับคือดับสูญ
ผ่านทิวา 13:41:31
คือความดำรงแห่งสัมพันธ์
วัจนะแห่งชาติ ชรา มรณะ เผยปรากฏชัดแจ้งในวิชชา
หิมะราตรี 13:38:38
จบแค่มรณะไม่มีต่อเวียนเกิด
ใช่ไม๊
ใช่ไม๊
ใช่ไม๊
ผ่านทิวา 13:43:41
รติ= ย่อมยินดี
หิมะราตรี 13:39:01
แต่มั่นใจ
รติกาล= ยามราตรี
ผ่านทิวา 13:44:12
เกิดอิกครา เมื่ออวิชชายังคงครองใจ
รัตติ/- ราตรี
หิมะราตรี 13:40:00
ไม่เพียรเกิด
ทุกข์สม่ำเสมอ
อยากไม่สุขไม่ทุกข์
ผ่านทิวา 13:45:03
รติ/- รมฺ- ธาตุในความยินดี+ติ
หิมะราตรี 13:40:39
อยากดำดิ่งสู่ปรมาตรมัน
อยาก
อยาก
ผ่านทิวา 13:45:39
อนภินิเวสายะ
หิมะราตรี 13:41:01
อยาก
ผ่านทิวา 13:45:53
เช่นไร
หิมะราตรี13:41:16
เพียรละอยาก
ผ่านทิวา 13:46:16
ยิ่งเพียร ยิ่งอยาก
หิมะราตรี 13:41:52
วันนี้จิตดำดิ่ง
ทำอย่างไร ?
ผ่านทิวา 13:46:45
เพราะตัณหะยังคำนึง
หิมะราตรี 13:42:11
รู้สึกเมา
หมุนซ้ายเวียนขวา
ผ่านทิวา 13:47:13
โลมไล้ความหอมหวล
หิมะราตรี13:42:39
ความกลัวถกเถียงกับความกล้า
มั่นกับขลาด สู้เขลา
ผ่านทิวา 13:47:49
ทุกขธรรม
หิมะราตรี13:43:14
อืม..มีทุกข์
เชื่อไหมเราทุกข์
ผ่านทิวา 13:48:18
ไมหรอ
ทุกข์ใด
หิมะราตรี 13:43:56
ทุกข์ที่เอาจิตหลายคนใส่จิตเรา.
ฟังใครฟังเขาเราทุกข์
ช่างเถิด
ผ่านทิวา 13:49:06
พรากวิถี
อาลัย ทำให้ครุ่นครวญ
อยู่กับลมหายใจแห่งตน
หิมะราตรี 13:45:18
ขอบคุณ
อยู่กับลมหายใจแห่งตน
อยู่กับลมหายใจแห่งตน
ตนเป็นที่พี่งแห่งตน
ผ่านทิวา 13:50:41
ขณะหนึ่ง ๆ คือ ชีวิตที่แท้จริง
หิมะราตรี 13:47:05
อยู่กับลมหายใจแห่งตน
ดีจัง วันนี้เจอคุณ
แนะนำตัวหน่อยได้ไม๊
ผ่านทิวา 13:52:15
ครับ ถามได้
หิมะราตรี 13:48:34
เทอทำงานอะไร
คุยแล้วดีจัง
ปล่อยวาง
ผ่านทิวา 13:53:35
ชีวิตย่อมดำเนินโดยวิธีของเราเอง
หิมะราตรี 13:49:14
ไม่ดับทุกข์แต่ไม่ร้อนกว่านี้
ภวังค์
ผ่านทิวา 13:54:22
ภวังค์ ทำให้ติด
หิมะราตรี 13:49:53
เราติดอยู่ในภวังค์
ผ่านทิวา 13:54:47
ดำดิ่งอย่างลุ่มหลง
พรากวิถี
หิมะราตรี 13:50:34
สู่รัตติกาลชั่วกัปชั่วกัลป์
ผ่านทิวา 13:55:16
ทำให้รำลึก เห็น
ทิวา รัตติ คือ โลก
ก้อยังติด ข้อง
หิมะราตรี 13:51:52
อีก 2 วันเราจะออกจากงานให้ภาระหมดสิ้น
ผ่านทิวา 13:57:15
แล้วไปไหน
แน่ว่า ใจปลดภาระได้สิ้น หรือคลาย
หิมะราตรี 13:53:10
หาทางหลุดทุกข์
ผ่านทิวา 13:58:04
ทำไง
หิมะราตรี 13:53:30
ขอหยุดดิ้นรน
ตอนนี้ใจรู้สึกทุกข์
เกลียดคนที่มารัก
เกลียดวาจาลวง
สรรหา ความสวยงาม
ผ่านทิวา 13:58:50
รัก คือ รัก
หิมะราตรี 13:54:12
โกรธแค้น
ผ่านทิวา 13:59:08
นั่นมิใช่รัก
หิมะราตรี 13:54:39
เรามิเคยมีรัก
ผ่านทิวา 13:59:28
รัก คือ ความสวยงามที่สุดแห่งโลก
หิมะราตรี 13:54:55
มีเพียงลุ่มหลง
รัก
อยากรัก
ผ่านทิวา 13:59:50
นิพพานธรรม คือ ความสวยงามที่สุดแห่งธรรม
ผ่านทิวา 13:59:55
มิใช่รัก
รัก อยากรัก มิใช่รัก
หิมะราตรี 13:55:24
เราอยากอีกแล้ว
ผ่านทิวา 14:00:14
ไร
หิมะราตรี 13:55:57
ธรรมของเรามาพร้อมตัณหาเสมอ
อยากดับมาเนิ่นนาน
ผ่านทิวา 14:01:00
อืม แล้วทำไง
หิมะราตรี 13:56:29
อยากสุขก้อเนิ่นนาน
ผ่านทิวา 14:01:36
อืม..นั่นคือชีวิต
หิมะราตรี 13:57:04
เอาอะไรมาวัด
ว่าอะไร คืออะไร
ผ่านทิวา 14:01:59
อยาก
หิมะราตรี 13:57:22
สุขคือแค่ไหนเรียกสุข
บอกที
ผ่านทิวา 14:02:18
ใจ ที่รู้สึก
หิมะราตรี 13:57:58
ทุกข์คือแค่ไหนเรียกทุกข์
ผ่านทิวา 14:02:56
เช่นเดียวกัน

หิมะราตรี 13:58:22
ขอเช็ดเลือดแป้บ
ผ่านทิวา 14:03:59
สีใด
เลือดแห่งชีวิต ?
หิมะราตรี 14:03:04
ลองดู
ผ่านทิวา 14:08:00
ไรหรอ
หิมะราตรี 14:04:24
ว่าจะเจ็บไม๊
ผ่านทิวา 14:09:39
ทำไร
หิมะราตรี 14:05:33
เป็นเลือด
ผ่านทิวา 14:10:36
ที่ไหน
หิมะราตรี 14:07:00
แขน
ผ่านทิวา 14:12:04
ทุกขสัจจ์
หายใจเถิดเพราะเธอมีชีวิต
หิมะราตรี 14:08:17
แค่อยากรู้ว่าเจ็บกายจะดับทุกข์ใจได้ไม๊
แค่นี้ไม่ตาย
ใจจดจ่อแผล
หันเหทุกข์ใจ
ดี
รู้สึกดี
ผ่านทิวา 14:13:43
มายาภวังค์
หิมะราตรี 14:09:38
ดีแม้เพียงภวังค์
แม้มายา
ผ่านทิวา 14:14:42
มิจฉาทิฏฐิธรรม
ภาพลวง คือเธอ
เพราะเธอ คือภาพลวง
สัจจะแท้หาได้ปรากฎในขณะจิต
หิมะราตรี 14:11:32
………..
ผ่านทิวา 14:16:44
สูญตาธรรม ,- เธอ ควรเพ่งตระหนัก
หิมะราตรี 14:12:24
เราเป็นความมืด
ผ่านทิวา 14:17:36
สว่างย่อมปรากฎเมื่อเธอคือความมืด
หิมะราตรี 14:14:12
ไม่ปรากฏ
ผ่านทิวา 14:19:12
ไกวัลย์ เธอ คือ ไกวัลย์
ทุกสิ่ง คือเธอ
หิมะราตรี 14:15:32
เราอยากดับ.
เราอยากดับ
ผ่านทิวา 14:20:35
อยาก ย่อมมิดับ
หิมะราตรี 14:16:00
ทุกข์มาเนิ่นนาน
ทำไมไม่จางหาย
ผ่านทิวา 14:20:54
ไม่อยาก ย่อมมิดับ
ข้อง อาลัย จึงรู้สึก นึก คิด
ดิ่งในธรรม จึงหยุด
หิมะราตรี 14:17:19
ช่วยที
ธรรมมิอาจช่วย
ผ่านทิวา 14:22:35
ครับ รับ
หิมะราตรี 14:18:14
กลิ่นซ่อนกลิ่นขจรอย่างโหนหวน
ผ่านทิวา 14:24:10

หิมะราตรี 14:24:15

ไม่เหมือนผีเสื้อ

มทิรา กามา
๐๑.๓๖ น./๗ มีน. ๒๕๓๙


ฟัง-- เธอบอกว่า- เธอมีอิสระ
เธอจะบิน บิน บินไปด้วยใจของเธอเอง- - ,

นั่งมอง-- เธอเริงร่าบินฝ่าสายลม
ท่ามกลางแดดเปรี้ยง เหงื่อตก หน้ามืด
ปีกอ่อนล้า ผลัดตกลงในดงไม้หนาม

เธอเจ็บ ที่ปีกมีบาดแผล
แต่ไร้เลือดไหลซิบ
เธอพยายามที่จักหันมองปีกบอบบาง
เห็นได้เพียงลางเลือน
ตายังฝ้ามัว

เธอรู้สึกถึงหนามไหน่ที่เกี่ยวติดตัว
แต่เพียงแค่รู้-มือเธอเอื้อมไปไม่ถึง

เธอรู้สึกทรมาน- ดิ้นรน
ยิ่งขยับเคลื่อนไหวร่างปีกบางยิ่งฉีกขาด

เธอเหนื่อยล้า- แต่มีใจฮึดสู้ดิ้นรน
ดิ้นรน ดิ้นรน อีกหลายครั้งของความพยายาม---,

พูดให้ฟัง-- เธอเพลิดเพลินในอิสระมากพอแล้ว
ปล่อยให้หนามแหลมของสังคมหยุดเธอไว้บ้างก็ดี-,

นั่งคิด-- ไม่นานเธอคงพ้นจากพันธนาการนั้นได้อีกครั้ง
อีกครั้ง และอีกหลายครั้ง

เห็น-- ลมพัดมาแล้ว-
เธอหลุดล่องลอยว่ายฟ้าไปอีกครั้ง---

กถาเพื่อนคำ

ต้อนรับสู่ถ้อยคำเขียนข้าว
หมายเหตุแห่งเรื่องราว ณ ยุคสมัย
บานแผนกแยกรับ สดับนัย
ด้วยหทัยกล่าวธรรม สมันตา


Copyright©2007 kurukarn.blogspot.com
by editorship@hotmail.com
Powered By Blogger