วันพุธที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2550

บทกวีของฉัน

บทกวีของฉัน



คือที่ที่ซึ่งใช้เป็นห้องหับแห่งการนอนหลับ
เพื่อฝันถึงเธอผู้เป็นที่รัก
คือคอนโดฯ หลายๆ ห้องที่ให้อยู่ฟรีแก่ผู้ที่รู้สึกอกหัก
คือรังหนูที่รกเรื้อไปด้วยถ้อยคำของนักพรต
ผู้ไม่อาจตัดสวาทจากหญิงสาวที่เขาหลงรักอย่างโงหัวไม่ขึ้น
คือถ้อยคำที่นักบวชผู้หลงโลกย์
ใช้เป็นที่สำเร็จความใคร่ของจินตนาการ
คือลำดับและความศักดิ์สิทธิ์ของคำรัก
ที่จะต้องใช้ภาวนาเพื่อทำให้รู้สึกว่า
ตนเองเต็มเปี่ยมไปด้วยรักที่สมหวัง
คือที่อยู่หรือที่ฝังของเสาเข็มความรู้สึกนึกคิด
ที่ผู้สร้างมันขึ้นมาไม่อาจขว้างทิ้งลงโถชักโครก
คือหญิงสาวที่เขาหลงรักและมอบใจให้ทั้งหมด
คือสัดส่วน 34-24-36
อกตึง เอวมน สะโพกผาย
และที่สุดคือที่ตายของผู้ชายคนหนึ่ง



มทิรา กามา
บนเปลผ้า อาศรมเนตตา

ทางชีวิต

กฎของการกระทำกรรมดีชั่ว
ย่อมพันพัวตัวตนคนชายหญิง
เป็นเหตุผลเที่ยงแท้แน่นอนจริง
ที่เป็นสิ่งประสพอยู่ทุกผู้คน

จะมืดหรือสว่างทางชีวิต
เหมือนลิขิตขีดเส้นเป็นเหตุผล
ผลักดันให้แปรเปลี่ยนหมุนเวียนวน
ซึ่งผจญทุกเวลาไม่ว่าใคร

ประกอบกรรมทำดีย่อมมีสุข
ปลดเปลื้องทุกข์วิบัติบัดไถม
จะสดชื่นรื่นเริงบันเทิงใจ
เหล่าเวรภัยนานาไม่ราวี

ชนชายหญิงพากันสรรเสริญ
ได้เจริญเกียรติงามตามวิถี
ด้วยเมตตารักใคร่ผูกไมตรี
ต่างยินดีคบค้าสมาคม

ถ้าแม้นทำชั่วตัวมัวหมอง
ตนนั้นต้องตกอับทุกข์ทับถม
ทางชีวิตมืดมนจนต้องขม
เศร้าระบมเข็ญใจไม่เว้นวัน

อีกปวงชนทั่วไปไม่เกรงขาม
บ้างประณามหยามเหยียดคิดเดียดฉันท์
กล่าวติฉินนินทาสารพัน
ทุกสิ่งอันมีแต่ชั่วเกลือกกลั้วกัน

ซ้ำเผชิญทุกข์ภัยไม่ละลด
ใจสลดอดสูอยู่ไม่หาย
ผิดแนวทางจึงตกขมเพราะงมงาย
ด้วยเหตุร้ายรุมรึงคอยดึงพา

อันกรรมดีกรรมชั่วที่ตัวสร้าง
ล้วนเป็นทางนำสุขทุกข์มาหา
ใครทำดีได้ดีมีราคา
เกิดคุณค่ามากมายหลายประการ

ใครทำชั่วได้ชั่วมัวแต่เศร้า
จะร้อนเร่าเรื่องร้ายหลายสถาน
จึงควรที่ท่านหญิงชายได้วิจารณ์
เลิกเป็นพาลเสียทีจะดีงาม ฯะ๙




อ. คุรุการเกษตร

๒๕ กรกฎ. ๐๖ / ๑๐.๑๕ น.
บ้านปากคลอง พัทลุง


* ตีพิมพ์ใน หนังสือพิมพ์ “ไทยทักษิณ” ปี ๒๕๐๖

บทแสดงวัตรของกัลยาณชน

ปฐโม อรุโณ เสโตฯ

อิทานิ อรุโณทยํ อาปุจฺฉามิฯ
บัดนี้ ฉันบอกกล่าว อรุโณทัย
อรุโณทัย อรุโณทัย แจ้งสว่างแล้วโว้ย...
ฉันนุ่งสบงพระวินัย ( อา. ปา. มะ. จุ. ปะ. )
คาดประคตเอว ทำใจให้มั่นแน่น อิมํ กายพนฺธนํ อธิฏฺฐามิฯ
ห่มจีวรพระสูตร ( ที. มะ. สัง. อัง. ขุ. )
แล้วหยิบสังฆาฏิพระอภิธรรมขึ้นพาดบ่า
( สัง. วิ. ธา. ปุ. กะ. ยะ. ปะ. )
เพื่อให้ดูสง่างามพร้อมใจที่รู้ ธรรมธาตุทั้งปวง

ทุติโย ตามฺพมํ เจวฯ

อยํ อตฺตภาโว อสุจิ อสุภํ
มรณปริโยสานํ
กมฺมฏฺฐานํ ภาเวติฯ

ฉันห่มครองเรียบร้อยแล้วนั่งลงพิจารณาอัตตภาพ
เจริญกรรมฐาน ไม่สะอาด ไม่งาม
มีความตายเป็นที่สุดรอบฯ
ถวายเครื่องสักการะแด่พระพุทธเจ้า พระธรรมเจ้า พระสังฆเจ้า
พุทฺธํ ให้แจ้ง ธมฺมํ ให้สว่าง สงฺฆํ เบิกทางให้สว่างคือดวงแก้วฯ
แล้วสวดมนต์บทสรรเสริญพระพุทธคุณ
อิติปิโส ภควา
อรหํ สมฺมาสมฺพุทฺโธ ฯเปฯ
และบทพาหุงฯ อันแสดงความเชิดชู เทิดทูน-
สรรเสริญคุณพระพุทธเจ้าอย่างยิ่ง...
จบลงด้วยการกรวดนํ้าให้แด่สัตว์โลก
จากนั้นฉันก็พิจารณาขณะของปัจจัยทั้งสี่
เพื่อกำหนดรู้และใช้อย่างถูกต้อง

ตติโย โอทาโตฯ

ก่อนยามแห่งอรุณที่สี่จะย่างถึง
ฉันจักไม่นอนลงให้กิเลสมันขี่คออีก
จักใช้เวลาที่เหลือตริตรองธรรม
ท่องบ่นพระคัมภีร์
แสดงความผิดกับสหธรรมิกเพื่อไม่ให้อาบัติข้ามวันคืน
และฉันจักบอกกล่าวแก่ตนเองว่า-
วันหนึ่งผ่านไปแล้วโว้ย วันหนึ่งผ่านไปแล้วโว้ย
จักได้ทำอะไรให้มันถูกต้องตามกิจและกาลกำหนดของวัน

จตุตฺโถ นนฺทิมุโขฯ

วันใหม่ขณะแห่งอรุณที่สี่
ฉันเปลื้องจีวรครอง นุ่งห่มจีวรเก่า
หยิบบาตรขึ้นมาดู แล้วควานมือลงไป
ด้วยคำภาวนา-
จตฺตาโร สติปฏฺฐานา,
กายานุปสฺสนา สติปฏฺฐานํ เวทนานุปสฺสนา สติปฏฺฐานํ
จิตฺตานุปสฺสนา สติปฏฺฐานํ ธมฺมานุปสฺสนา สติปฏฺฐานํ ฯ
ตั้งตนไว้ในที่อยู่ไม่ไปปราศจากสติ สติอวิปฺปวาโสฯ
แล้วถือบาตรเดินไปตามย่านบ้าน
ด้วยคำภาวนา-
สพฺเพ สตฺตา อเวรา โหนฺตุ
อพฺยาปชฺฌา-อนีฆา-สุขี อตฺตานํ ปริหรนฺตุฯ
หยุดยืนสงบนิ่งหน้าบ้านทายก-ทายิกาผู้ศรัทธาในพระไตรรัตน์
นามรูปํ อนิจฺจํ นามรูปํ ทุกฺขํ นามรูปํ อนตฺตาฯ
ก้อนข้าว ตกลงในบาตรแสดงความร้อนผ่านบาตรเหล็ก
นิสฺสตฺโต นิชฺชีโว สุญฺโญฯ
ฉันขอบคุณผู้ศรัทธา ด้วยพระบาลีในใจว่า-
จตฺตาโร ธมฺมา วฑฺฒนฺติ
อายุ วณฺโณ สุขํ พลํ ฯ
และ เอวํ โหตุฯ ขอความปรารถนาของท่านจงสำเร็จ...
ฉันกลับมาถึงอาราม
วางบาตรลงด้วยพระคาถาว่า-
อิทานิ อาหารคเวสิ
ทุกฺขํ สํเวควตฺถูติ วุจฺจติฯ
ความทุกข์อันเนื่องด้วยการแสวงหาอาหาร ในกาลนี้
อันท่านกล่าวว่า เป็นวัตถุแห่งความสังเวค...

ฉันนุ่งพระวินัย ห่มพระสูตร พาดพระธรรม
จิตใจของฉันขลัง
มีพลังยึดเหนี่ยว
ด้วยความศักดิ์สิทธิ์แห่งพุทธรังษีทฤษฎีญาณ
ฉันขอกราบขอบพระคุณ
พระอุปัชฌาย์ แลพระอาจารย์
ที่ได้สอนสั่งให้มั่งคง
ดำรงตนอยู่ได้ในร่มกาสาวพัสตร์
โดยไม่ปล่อยไปตามบุญ ยถากรรม
ฉันจักขอน้อมนำพระธรรมวินัยมาปฏิบัติขัดเกลาตนเองทุกเมื่อ
เพื่อไม่ให้ร้อนฯ


๏ นุ่งพระวินัย ห่มพระสูตร พาดพระอภิธรรม เป็นเหมือนคำอุปมา พระวินัยป้องกันไม่ให้ทำชั่ว ทำผิด, พระสูตรแสดงซึ่งความดับทุกข์, พระอภิธรรมให้สง่าราศีสูงสุด เพราะทำให้เรามีความรู้ธรรมะขั้นละเอียด ลึกซึ้ง
ขอให้เราได้นุ่งพระวินัย ห่มพระสูตร พาดพระอภิธรรมได้อย่างถูกต้องกันทุกคน สาธุ ฯ

*หมายเหตุกถา เขียนขึ้นมาจาก “การทำวัตรแบบโบราณ” ท่านอาจารย์พุทธทาสภิกขุ ใน เสขิยธรรม ฉบับที่ ๒๓ ปีที่ ๔ กรกฎาคม-กันยายน พ.ศ. ๒๕๓๗

วันเสาร์ที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2550

"อิตถีหทัย" พันธะกวีนิพนธ์ นัยพินิศของสตรี-เพ็ญ ภัคตะ

"อิตถีหทัย" พันธะกวีนิพนธ์ นัยพินิศของสตรี
เพ็ญ ภัคตะ
สำนักพิมพ์รูปจันทร์ พิมพ์ครั้งที่ ๑ มีนาคม ๒๕๕๐ ราคา ๘๕ บาท

เพ็ญ ภัคตะ กวีสาวสวยที่สุดในโลก ผู้ยืนหยัดในความเป็น กวิณี หรือ อิตถีกวี
มีผลงานเล่มล่าสุดในรายชื่อรวมบทกวีที่เข้าชิงรางวัลซีไรท์ปีนี้

ดร. เพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์ คือชื่อ นามสกุลจริงของเธอ เปิดเผยทั้งนามสกุลเดิม และของสามีผู้เป็นที่รักยิ่ง เธอคือ หญิงสาวผู้สง่างาม บัณฑิตและมหาบัณฑิตผู้ยาตราจากคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากรและ ปริญญาเอก สาขาประวัติศาสตร์ศิลปะ จากมหาวิทยาลับโลซานน์

อิตถีหทัย
เป็นหนังสือรวมบทกวี ที่ต่อเนื่องมาจากเล่ม “เหนือฝั่งมหานที” ปี 2544
ในเล่มนี้บอกเล่าถึง ภาระ พันธะ อิตถี.. ความเป็นเมีย แม่ ลูก ทั้งในพื้นที่ สรีระ วัฒนธรรม ชาติพันธุ์ ผู้หญิงตะวันตก ผู้หญิงตะวันออก ผู้หญิงโลกเก่า ผู้หญิงโลกใหม่ด้วยลีลาฉันทลักษณ์ตามขนบโบราณที่ได้อารมณ์ด้วยคำแห่งสมัยทั้งโคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน และคำอธิบายศัพท์คำเมืองล้านนา
ลองอ่านบางบท-

หญิงแบกโลกครึ่งหล้า ฤาไฉน
มือหนึ่งดับเปลวไฟ เปลี่ยนฟ้า
อีกมือกวัดไกว รักกล่อม
หญิงแบกโลกหมดหล้า มอบแล้วมิเหลือ

ผู้หญิงครองพื้นที่ สีขาว
มองโลกเหมือนดวงดาว ดอกไม้
ถึงใครหยาดรอยคาว ฤทัยขุ่น
หวานมิมอดมลายไร้ ไป่สิ้นรสสุคันธ์

เรื่องราวเรียงหยิบร้อย กวีราย
อดีตมุ่งปัจจุบันหมาย เปิดแง้ม
ตะวันออกสุดขอบชาย ตะวันตก
พื้นที่ผู้หญิงแย้ม ตอกย้ำพันธนา

(บางบทของ อิตถีหทัย : โคลงสี่สุภาพ)

*******
น้ำตายโสธรา

๐ ธาราฤาหยั่งรู้ ยโสธรา
รินร่ำหลั่งน้ำตา ไป่แห้ง
โหยหวลสุดเทวษหา สิทธัตถะ
ทรวงอกน้องเหือดแล้ง แหลกแล้วพี่เอย

๐ ความรักเพิ่งเริ่มต้น แตกกอ
ยังบ่ทันเคลียคลอ ลูกน้อย
เรือนหอเพิ่งเริ่มหอ เหินห่าง
อุ้มลูกตามติดต้อย อย่าทิ้งยโสธรา

๐ น้ำตาน้องท่วมฟ้า ฟูมฟาย
กัณฐกะควบลับหาย ห่างหล้า
ไม่ตายก็เหมือนตาย ใจแตก สลายเฮย
ทารกต้องกำพร้า ไป่รู้ชะตากรรม

๐ น้องเลวน้องชั่วช้า ไฉนฤา
ความผิดอันใดหรือ จึ่งร้าง
สัญญาบ่ยึดถือ เลือดขัตติ-ยานา
กุศลก่อนเราร่วมสร้าง สุดสิ้นกรรมไฉน

๐ น้ำตารินรดแก้ม ราหุล
โอ๋..พ่อเจ้าประคุณ ยั่วยิ้ม
มิรู้ดอกหรือบุญ ขวัญแม่
ชีวิตเจ้าเนื้อนิ่ม ชวดแล้วชนกา

๐อับอายทั่วแผ่นฟ้า ผืนดิน
ชนหมิ่นแคลนติฉิน แม่หม้าย
เทวีแห่งนครินทร์ เลอลักษณ์
ความรักสิโหดร้าย บ่แม้นสามัญ

๐พี่ยามุ่งบ่ายหน้า แสวงบุญ
แต่อกน้องดั่งจุณ โปรดรู้
อาลัยสวาทละมุน สวามิ
กลับบอกให้น้องสู้ ฝ่าสิ้นกระแสกรรม

๐พี่ไปเพื่อเสาะค้น ปัญญา
เพลิงแห่งปรารถนา หลุดพ้น
อภัยแด่ภัสดา ด้วยเถิด
ชลเนตรพลอยขุ่นข้น อย่าร้องเลยขวัญ

๐น้ำตาทุกหยดสร้าง กามภพ
เกิด-ดับมิรู้จบ จิตเจ้า
ชาตินี้ปิดฉากรบ และฉาก รักเทอญ
สิ้นสุดแห่งกองเถ้า อย่าเศร้า ยโสธรา

๐น้องทุกข์พี่ทุกข์ด้วย ดั่งเดียว
บ่วงแห่งราหุลเรียว รัดร้อย
ใช่ทิ้งทอดแท้เทียว อุทิศทุ่ม ธรรมนา
แม้คนไกลไป่คล้อย จักย้อนคืนเรือน

๐ยกมือขึ้นปาดน้ำ ตาคะนึง
ฝืนข่มความคิดถึง กระอักท้น
ปางตายแต่ยังตรึง ใจตรึก
รอพี่เพียรหลุดพ้น เทศน์น้องอริยธรรม

(โคลงบท " น้ำตา..ยโสธรา"
เพ็ญ ภัคตะ นำมาอ่านเป็นครั้งแรก ณ ลานสนาม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ซึ่งเธอเขียนโดยถอดหัวใจพระนางยโสธรา ณ หนึ่งราตรีกาล
เมื่อสองพันกว่าปีที่ล่วงมา ในคราวที่พระสวามี เจ้าชายสิทธัตถะ
ทรงเสร็จออกผนวช และโดยดวงใจของเธอเองที่
ชายหนุ่มผู้เป็นที่รักออกบวช จนทำท่าว่าจะไม่ลาสิกขาออกมาแต่งงาน)

บทสนทนาในบ่ายวันหนึ่ง

มทิรา กามา


หิมะราตรี 01:59:52
ดำดิ่งสู่หุบเหวค้นหาชั่วกัลป์
ดอกราตรีแห่งรัตติกาลฟุ้งกระจายอย่างโหยหวน
ผ่านทิวา 01:59:53
รัตติกาลช่างเนิ่นนาน วาระก้าวผ่าน ทิวา
เฉกชีวิต ผลิเนิ่น ณ ห้วงเพลินรัตตี
ขณะนี้
หิมะพรากจากพ้น
ผ่านทิวา 02:01:54
สวัสดีครับ
หิมะราตรี 13:27:41
แสนสวย
ผ่านทิวา 13:33:00
พระจันทร์ยามบ่าย
หิมะราตรี 13:28:59
พระจันทร์ก้ออยู่ตรงนั้นตลอดเวลาเพียงแต่แสงอาทิตย์มาบดบัง
ผ่านทิวา 13:34:20
หิมะมิได้ละลาย
อนิจจตาห่างหาย
หิมะราตรี 13:30:43
ละลายละเหยละเหิดแล้วก้อกลั่นตกมาอีกระรอก
ผ่านทิวา 13:36:07
จ๊อก...จ๊อก....
ผ่านทิวา 13:36:32
คล้าย ๆ
ความเกิด ดับ ตาย
หิมะราตรี 13:32:27
ไม่วนเวียนมาเกิด
ผ่านทิวา 13:37:21
ละม้าย ๆ คล้ายคลึง
หิมะราตรี 13:34:01
เชื่อว่าเมื่อกายละเอียดละกายหยาบน่าจะจบสิ้นหนึ่งชีวิต
เป็นดับสูญชั่วนิรันดร์
ผ่านทิวา 13:39:34
เทศนาแสดงวัจนะประหนึ่งหิมะราตรี
หิมะราตรี 13:35:17
ไม่เทศนา
ไม่สามารถ
ผ่านทิวา 13:40:18
ชีวีมิอาจดับสูญ
หิมะราตรี 13:35:41
ไม่เคยล่วงรู้ได้มากมายขนาดนั้น
เข้าใจคนละทาง
ผ่านทิวา 13:40:35
ยังคงครองอนิจจธรรม
หิมะราตรี 13:36:09
เราแตกดับคือดับสูญ
ผ่านทิวา 13:41:31
คือความดำรงแห่งสัมพันธ์
วัจนะแห่งชาติ ชรา มรณะ เผยปรากฏชัดแจ้งในวิชชา
หิมะราตรี 13:38:38
จบแค่มรณะไม่มีต่อเวียนเกิด
ใช่ไม๊
ใช่ไม๊
ใช่ไม๊
ผ่านทิวา 13:43:41
รติ= ย่อมยินดี
หิมะราตรี 13:39:01
แต่มั่นใจ
รติกาล= ยามราตรี
ผ่านทิวา 13:44:12
เกิดอิกครา เมื่ออวิชชายังคงครองใจ
รัตติ/- ราตรี
หิมะราตรี 13:40:00
ไม่เพียรเกิด
ทุกข์สม่ำเสมอ
อยากไม่สุขไม่ทุกข์
ผ่านทิวา 13:45:03
รติ/- รมฺ- ธาตุในความยินดี+ติ
หิมะราตรี 13:40:39
อยากดำดิ่งสู่ปรมาตรมัน
อยาก
อยาก
ผ่านทิวา 13:45:39
อนภินิเวสายะ
หิมะราตรี 13:41:01
อยาก
ผ่านทิวา 13:45:53
เช่นไร
หิมะราตรี13:41:16
เพียรละอยาก
ผ่านทิวา 13:46:16
ยิ่งเพียร ยิ่งอยาก
หิมะราตรี 13:41:52
วันนี้จิตดำดิ่ง
ทำอย่างไร ?
ผ่านทิวา 13:46:45
เพราะตัณหะยังคำนึง
หิมะราตรี 13:42:11
รู้สึกเมา
หมุนซ้ายเวียนขวา
ผ่านทิวา 13:47:13
โลมไล้ความหอมหวล
หิมะราตรี13:42:39
ความกลัวถกเถียงกับความกล้า
มั่นกับขลาด สู้เขลา
ผ่านทิวา 13:47:49
ทุกขธรรม
หิมะราตรี13:43:14
อืม..มีทุกข์
เชื่อไหมเราทุกข์
ผ่านทิวา 13:48:18
ไมหรอ
ทุกข์ใด
หิมะราตรี 13:43:56
ทุกข์ที่เอาจิตหลายคนใส่จิตเรา.
ฟังใครฟังเขาเราทุกข์
ช่างเถิด
ผ่านทิวา 13:49:06
พรากวิถี
อาลัย ทำให้ครุ่นครวญ
อยู่กับลมหายใจแห่งตน
หิมะราตรี 13:45:18
ขอบคุณ
อยู่กับลมหายใจแห่งตน
อยู่กับลมหายใจแห่งตน
ตนเป็นที่พี่งแห่งตน
ผ่านทิวา 13:50:41
ขณะหนึ่ง ๆ คือ ชีวิตที่แท้จริง
หิมะราตรี 13:47:05
อยู่กับลมหายใจแห่งตน
ดีจัง วันนี้เจอคุณ
แนะนำตัวหน่อยได้ไม๊
ผ่านทิวา 13:52:15
ครับ ถามได้
หิมะราตรี 13:48:34
เทอทำงานอะไร
คุยแล้วดีจัง
ปล่อยวาง
ผ่านทิวา 13:53:35
ชีวิตย่อมดำเนินโดยวิธีของเราเอง
หิมะราตรี 13:49:14
ไม่ดับทุกข์แต่ไม่ร้อนกว่านี้
ภวังค์
ผ่านทิวา 13:54:22
ภวังค์ ทำให้ติด
หิมะราตรี 13:49:53
เราติดอยู่ในภวังค์
ผ่านทิวา 13:54:47
ดำดิ่งอย่างลุ่มหลง
พรากวิถี
หิมะราตรี 13:50:34
สู่รัตติกาลชั่วกัปชั่วกัลป์
ผ่านทิวา 13:55:16
ทำให้รำลึก เห็น
ทิวา รัตติ คือ โลก
ก้อยังติด ข้อง
หิมะราตรี 13:51:52
อีก 2 วันเราจะออกจากงานให้ภาระหมดสิ้น
ผ่านทิวา 13:57:15
แล้วไปไหน
แน่ว่า ใจปลดภาระได้สิ้น หรือคลาย
หิมะราตรี 13:53:10
หาทางหลุดทุกข์
ผ่านทิวา 13:58:04
ทำไง
หิมะราตรี 13:53:30
ขอหยุดดิ้นรน
ตอนนี้ใจรู้สึกทุกข์
เกลียดคนที่มารัก
เกลียดวาจาลวง
สรรหา ความสวยงาม
ผ่านทิวา 13:58:50
รัก คือ รัก
หิมะราตรี 13:54:12
โกรธแค้น
ผ่านทิวา 13:59:08
นั่นมิใช่รัก
หิมะราตรี 13:54:39
เรามิเคยมีรัก
ผ่านทิวา 13:59:28
รัก คือ ความสวยงามที่สุดแห่งโลก
หิมะราตรี 13:54:55
มีเพียงลุ่มหลง
รัก
อยากรัก
ผ่านทิวา 13:59:50
นิพพานธรรม คือ ความสวยงามที่สุดแห่งธรรม
ผ่านทิวา 13:59:55
มิใช่รัก
รัก อยากรัก มิใช่รัก
หิมะราตรี 13:55:24
เราอยากอีกแล้ว
ผ่านทิวา 14:00:14
ไร
หิมะราตรี 13:55:57
ธรรมของเรามาพร้อมตัณหาเสมอ
อยากดับมาเนิ่นนาน
ผ่านทิวา 14:01:00
อืม แล้วทำไง
หิมะราตรี 13:56:29
อยากสุขก้อเนิ่นนาน
ผ่านทิวา 14:01:36
อืม..นั่นคือชีวิต
หิมะราตรี 13:57:04
เอาอะไรมาวัด
ว่าอะไร คืออะไร
ผ่านทิวา 14:01:59
อยาก
หิมะราตรี 13:57:22
สุขคือแค่ไหนเรียกสุข
บอกที
ผ่านทิวา 14:02:18
ใจ ที่รู้สึก
หิมะราตรี 13:57:58
ทุกข์คือแค่ไหนเรียกทุกข์
ผ่านทิวา 14:02:56
เช่นเดียวกัน

หิมะราตรี 13:58:22
ขอเช็ดเลือดแป้บ
ผ่านทิวา 14:03:59
สีใด
เลือดแห่งชีวิต ?
หิมะราตรี 14:03:04
ลองดู
ผ่านทิวา 14:08:00
ไรหรอ
หิมะราตรี 14:04:24
ว่าจะเจ็บไม๊
ผ่านทิวา 14:09:39
ทำไร
หิมะราตรี 14:05:33
เป็นเลือด
ผ่านทิวา 14:10:36
ที่ไหน
หิมะราตรี 14:07:00
แขน
ผ่านทิวา 14:12:04
ทุกขสัจจ์
หายใจเถิดเพราะเธอมีชีวิต
หิมะราตรี 14:08:17
แค่อยากรู้ว่าเจ็บกายจะดับทุกข์ใจได้ไม๊
แค่นี้ไม่ตาย
ใจจดจ่อแผล
หันเหทุกข์ใจ
ดี
รู้สึกดี
ผ่านทิวา 14:13:43
มายาภวังค์
หิมะราตรี 14:09:38
ดีแม้เพียงภวังค์
แม้มายา
ผ่านทิวา 14:14:42
มิจฉาทิฏฐิธรรม
ภาพลวง คือเธอ
เพราะเธอ คือภาพลวง
สัจจะแท้หาได้ปรากฎในขณะจิต
หิมะราตรี 14:11:32
………..
ผ่านทิวา 14:16:44
สูญตาธรรม ,- เธอ ควรเพ่งตระหนัก
หิมะราตรี 14:12:24
เราเป็นความมืด
ผ่านทิวา 14:17:36
สว่างย่อมปรากฎเมื่อเธอคือความมืด
หิมะราตรี 14:14:12
ไม่ปรากฏ
ผ่านทิวา 14:19:12
ไกวัลย์ เธอ คือ ไกวัลย์
ทุกสิ่ง คือเธอ
หิมะราตรี 14:15:32
เราอยากดับ.
เราอยากดับ
ผ่านทิวา 14:20:35
อยาก ย่อมมิดับ
หิมะราตรี 14:16:00
ทุกข์มาเนิ่นนาน
ทำไมไม่จางหาย
ผ่านทิวา 14:20:54
ไม่อยาก ย่อมมิดับ
ข้อง อาลัย จึงรู้สึก นึก คิด
ดิ่งในธรรม จึงหยุด
หิมะราตรี 14:17:19
ช่วยที
ธรรมมิอาจช่วย
ผ่านทิวา 14:22:35
ครับ รับ
หิมะราตรี 14:18:14
กลิ่นซ่อนกลิ่นขจรอย่างโหนหวน
ผ่านทิวา 14:24:10

หิมะราตรี 14:24:15

ไม่เหมือนผีเสื้อ

มทิรา กามา
๐๑.๓๖ น./๗ มีน. ๒๕๓๙


ฟัง-- เธอบอกว่า- เธอมีอิสระ
เธอจะบิน บิน บินไปด้วยใจของเธอเอง- - ,

นั่งมอง-- เธอเริงร่าบินฝ่าสายลม
ท่ามกลางแดดเปรี้ยง เหงื่อตก หน้ามืด
ปีกอ่อนล้า ผลัดตกลงในดงไม้หนาม

เธอเจ็บ ที่ปีกมีบาดแผล
แต่ไร้เลือดไหลซิบ
เธอพยายามที่จักหันมองปีกบอบบาง
เห็นได้เพียงลางเลือน
ตายังฝ้ามัว

เธอรู้สึกถึงหนามไหน่ที่เกี่ยวติดตัว
แต่เพียงแค่รู้-มือเธอเอื้อมไปไม่ถึง

เธอรู้สึกทรมาน- ดิ้นรน
ยิ่งขยับเคลื่อนไหวร่างปีกบางยิ่งฉีกขาด

เธอเหนื่อยล้า- แต่มีใจฮึดสู้ดิ้นรน
ดิ้นรน ดิ้นรน อีกหลายครั้งของความพยายาม---,

พูดให้ฟัง-- เธอเพลิดเพลินในอิสระมากพอแล้ว
ปล่อยให้หนามแหลมของสังคมหยุดเธอไว้บ้างก็ดี-,

นั่งคิด-- ไม่นานเธอคงพ้นจากพันธนาการนั้นได้อีกครั้ง
อีกครั้ง และอีกหลายครั้ง

เห็น-- ลมพัดมาแล้ว-
เธอหลุดล่องลอยว่ายฟ้าไปอีกครั้ง---

มี - เป็น

มทิรา กามา


วิญญาณแห่งรักอาทรกรุณา
เคยปกคลุมจิตสมาทานความรู้สึกใหม่

แต่นั้น
เมื่อกาลที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไปครั้งก่อน

แต่เมื่ออีกกาละและเทศะใหม่
วิญญาณแห่งรักใหม่กับคนใหม่
กลับไปคลุ้มคลั่งและเพ้อเจ้อใหม่

ความรู้สึกเก่า-ใหม่
ยังคงเกิด-ดำรง-ดับอยู่เสมอ
เช่นกับข้าฯ และเธอ
จากโหยหาเสียเหลือเกินแล้ว
สู่เพ้อเจ้อ ฟุ่มเฟือยความรู้สึกเสียเหลือเกินแล้ว
และสู่นิ่ง เจ็บ นิ่ง
เพ้อเจ้ออีก
และฝัน

เป็นอยู่นั่นคือ ความรัก
เห็นแก่ใจอยาก ก็คือชีวิต

หญิงสาวเมรัย

มทิรา กามา


ดีกรีของเธอ ยี่สิบสองลมหนาว-ร้อน
และหลายดอกน้ำค้างเปื้อน

รูปทรงของเธอ สามสิบสี่ ยี่สิบสี่ สามสิบหก
ผิวสีของเธอดังน้ำปลุกปลอบสวาท

ดอกลมหนาวพัดพลิ้ว รวยริน
เมรัยสาวซับซาบสืดเข้าทรวง
อกใจไหวสะท้าน สะท้อนและสะเทือน
ท้องน้อยกระเพื่อม มดลูกขยับย้ายเยื้อง

เธอไม่อยากแหงนหน้าเบิ่งตาแลดวงดาวที่ลอยฟ้า
แต่ชอบชมพระจันทร์

วันหนึ่ง เธอเก็บดาวที่ตกได้ดวงหนึ่ง
เธอรู้สึกซึ้ง ชอบใจแล้วเก็บไว้ใต้กลิ่นชื้นของเส้นผม

กาละ, ทางเธอทำดาวตกหล่นไปกับสายน้ำชื่อ อนัตตา
ฟ้าใหม่ เมรัยในตัวเธอเมาตัวเอง
เธอคบเพื่อนชื่อ ตัณหา
แล้วพรรคพวกของตัณหาอีกหลายคน
ชักชวนเธอไปสู่เส้นทางอิสระในตัวตน
ตามใจตัวเอง

สังคมนิยมวัตถุและสนิทแวดล้อม
เคลือบและครอบคลุมขณะจิตเธอไว้
เธอเดินไป

เมรัยสาวไม่สนใจชีวิตที่หกรินรด
ดอกน้ำค้างที่กำลังเสพสังวาสอยู่กับยอดหญ้า
และเหลืองเบญจมาศดอกแกมเศร้า

ความตายของหญิงสาว

มทิรา กามา


ครั้งแรกเธอตายใจ ในความรู้สึกดีๆ กับคนรัก
ต่อมา จึงตายด้านกับความรู้สึกแห่งรักที่เธอรู้สึกในขณะนั้น
บางที เธอก็อยากฆ่าชายคนรักให้ตายไปจากโลกนี้
จากนั้นก็ฆ่าผู้ชายทุกคนด้วยความรักที่ตายแล้ว

ครั้งที่สอง เธอตายด้านกับผู้ชายและความรักของเขา
ต่อมาจึงตายใจกับความรู้สึกนึกคิดของเธอเองในขณะนั้น
บางที เธอก็อยากฆ่าตัวเองให้ตายไปจากโลกใบนี้
และฆ่าความรักของผู้หญิงทุกคนที่เธอรู้จัก

ครั้งที่สาม เธอตายใจและตายด้านกับทุกคน
แต่ไม่ยอมตายจากความงามของใบหน้าและเรือนร่างของตนเอง
เธอจึงต้องตาย
อย่างอาดรู อาลัย อาวรณ์ และอาเพท

แต่บางหญิงสาว
ตายอย่างงดงามด้วยรักอันบริบูรณ์

บทกวีของฉัน

มทิรา กามา
ก่อนดึก ส. ๘ กันย์ ๒๕๔๔
บนเปลผ้า อาศรมเนตตา

บทกวีของฉัน
คือที่ที่ซึ่งใช้เป็นห้องหับแห่งการนอนหลับ
เพื่อฝันถึงเธอผู้เป็นที่รัก

คือคอนโดฯ หลายๆ ห้องที่ให้อยู่ฟรีแก่ผู้ที่รู้สึกอกหัก

คือรังหนูที่รกเรื้อไปด้วยถ้อยคำของนักพรต
ผู้ไม่อาจตัดสวาทจากหญิงสาวที่เขาหลงรักอย่างโงหัวไม่ขึ้น

คือถ้อยคำที่นักบวชผู้หลงโลกย์
ใช้เป็นที่สำเร็จความใคร่ของจินตนาการ

คือลำดับและความศักดิ์สิทธิ์ของคำรัก
ที่จะต้องใช้ภาวนาเพื่อทำให้รู้สึกว่า
ตนเองเต็มเปี่ยมไปด้วยรักที่สมหวัง

คือที่อยู่หรือที่ฝังของเสาเข็มความรู้สึกนึกคิด
ที่ผู้สร้างมันขึ้นมาไม่อาจขว้างทิ้งลงโถชักโครก

คือหญิงสาวที่เขาหลงรักและมอบใจให้ทั้งหมด

คือสัดส่วน 34 - 24 - 36
อกตึง เอวมน สะโพกผาย
และที่สุดคือที่ตายของผู้ชายคนหนึ่ง

โชว์

มทิรา กามา
๒๕ กันย์ ๒๕๔๗


ซ้ำซาก !, ชีวิต !
คิด- อยาก, อยาก- ติดความคิด
อย่ามองตาได้มั๊ย ถ้าเธอไม่รัก !
ชีวิต,- ซ้ำซาก
หนึ่งคน หนึ่งผลิตภัณฑ์
ราคาแสนงามกว่าคุณค่า
ถ้าเธอไม่รัก เธอไม่มองตายั่งงี้
ชีวิตเพื่อชีวิตต้องหักราน
ปรนเปรอและเยียวยาด้วยความอาดูร "บางสิ่งบางอย่าง"
ธรรมดา,- ชีวิต !ต้องไขว่และคว้าความสะดวกสบาย
จะเอาอะไรนักหนากับมนุษยธรรม

รักเธอเท่าฟ้า !
ชีวิต ธรรมดา,-
ไม่มีอะไรจะยุ่งยาก
ทุกข์ สุข ดิบๆ สุกๆ
มันก้ออีแค่ ตรงนั้น

โอ้ ! โอทอปชีวิต
โปรดอย่ามาทำให้ฉันรักเธอ !

ความรัก


ตารา สาระ เขียนคำไทย
ธีรธาร เขียนคำบาลี

ยถา นิราสอากาโร
จิตฺตคฺโค ราคกามิโน
อยมฺปิ ตสฺส โหตี ว
ราคกามสฺส ปาสติ
เอวํ เปมมฺหิ สญฺชานํ
ปชานนญฺจ ธารณํ
สมสฺสาสนมสฺสาปิ
โหนฺติ มนปฺปสาทนํ ฯ


อาการอกหัก
เป็นหัวใจของนักรัก
จึงเป็นที่ระลึกถึงของนักรัก ดังนี้ ฉันใด
ความรู้สึก ความเข้าใจ
และความทรงจำในความรัก
จึงเป็นสิ่งปลอบประโลมใจแห่งนักรัก ฉันนั้น ฯ

ความรัก


(photo-by-Gare-and-Kitty)

ตารา สาระ

ธงชัยแห่งความรัก
คือกรุณาและปัญญา

ดุลยภาพแห่งความรัก
คือความรู้สึกร่วมในความดีงาม
ที่แสดงออกโดยความมั่งคง
แห่งศีล สมาธิ ปัญญา

ถ้อยคำภาวนาที่แท้จริง
สำหรับความรัก
คือ รั ก รู้ และ รั ก

หัวใจของความรัก
คือสัมมาญาณทัศนะ
ที่รู้แจ้งแทงตลอดถึงการเกิดขึ้น
การดำรงอยู่ และการแตกดับไป
ของสังขารธาตุทั้งปวง

หัวใจของคู่รัก
คือ ปั จ จุ บั น ข ณ ะ ที่ แ ท้ จ ริ ง

บทสนทนาว่าด้วย กวี ของสาวในกระท่อมนักฝัน น้ำ จันทร์ ดาว

***************
มทิรา :
กวี คือทุนของหัวใจ ทุนชีวิตและทุนสังคมทุนทางปัญญาของสังคม แต่ ไม่มีที่ยืนในพื้นที่ทางทุนวัตถุ
กวิสรา :
กาพย์ฉันท์โคลงกลอน เป็นวรรณศิลป์เป็นศิลปะแขนงหนึ่งถ้าไม่อนุรักษ์เผยแพร่สักวันมันก็หายไป หมดไป
มทิรา :
ไม่หมดหรอก ตราบมนุษย์ยังมีชีวิต
กวิสรา :
มันน้อยเหลือเกินถ้าทำอะไรได้ก็ควรให้มันได้ผลิบานอาจจะมีใครมาต่อก้าวคนรุ่นหลังก้าวต่อส่งต่อกันไป
เด็กรุ่นใหม่ควรได้อ่านงานดีๆงานไม่ดี คนก็ไม่อ่านและงานดีก็แทบไม่มีคนอ่าน
มทิรา :
อนิจจัง
กวิสรา :
ฮ่าๆ กรรมคุยไปคุยมาปลงสาธุ
--------------------------------------
มทิรา :
ตอนนี้อินๆ อยู่ว่าจะเขียนถึง กวีสาว ตอนอ่านงานของเจ้าแล้วมาเจอ กวิสรา
มทิรา :
จะเขียนถึงกวีสาวกำลังค้นหา คิดๆ นึกๆ ถึง "ความเป็นของกวีสาว" เลยมองถึง ความเป็นกวี ใน 2 สาวนี้ไงมองว่า อะไร ทำให้กวีปรากฎจาก 2 คนนี้
จันทร์วารี :
ไม่น่าเชื่อเหรอ
มทิรา :
อ่านมาก ครุ่นมาก ซึ้งชีวิต คิดรู้สึกดี ฯลฯ กำลังมองหา ทึ่งง่ะ อ่านท่วงทำนองถ้อยคำของเจ้าแล้วเห็นประกายกวีค่อยๆ แจ่มจ้า
ของกวิสรา นี่แจ่ม กำลังด่ำลึกในความมีเป็นธาตุกวีเติบกล้าแล้วรอวันยืนต้นอย่างสงบงาม
ใจกวีมีได้ยากน่ะแต่เราก็เป็นกวีกันได้บอกตัวเองไปเถอะว่า กู คือกวี
กวี ไม่ได้เป็นแค่เพียงถ้อยคำแต่เป็นมาจากภายในชีวิตถ้อยคำสวยหรู ไม่ใช่กวีน้ำเนื้อกวี เห็นจากถ้อยคำที่สัมผัสได้ถึงวิถีคิด
จันทร์วารี :
มีอะไรแนะนำในการเขียนอีกมะ
มทิรา :
งุงุ ว่าไปแระนิ
-------------



มทิรา

เรื่องของกวี

คิดถึงกวีหนุ่ม
กวีสาวยังกลุ้มไม่หาย
‘...ไม่รู้จะเป็นหรือจะตาย
จะดีร้ายอย่างไร....’ ก้อคิดถึง
“ เศร้าเหลือแล้วรึ กวีหนุ่ม ? ”
กวีสาวส่ง SMS สุ่มถามไป
กวีหนุ่มถามกลับ “ กวีสาวอยู่ไหน ”
กวีสาวตอบ “ อยู่ที่ใจดวงเดิม ” โมบายโฟน
“ บ้ามากเกินไป หรือปล่าวกวีหนุ่ม ? ”
กวีสาวตอกเสริม
กวีหนุ่มยิ้มอ้อนหยอกเอิน
สองกวีเพลิดเพลินถ้อยคำ พบหน้าและฟันเหล็ก
กวีสาวนั่งยิ้มกับภาพถ่ายและถ้อยคำกวีหนุ่ม
ยิ้มแก้มบุ๋มแล้วทำหน้างอนง้ำ
“ นี่ ! นี่ ! ทำหน้าขรึมๆ บึ้งๆ อยู่ดั๊ย ! ..
ใครล่ะ ! เที่ยวทำตัวให้เหินห่าง ฮื้ย ..” กลับมา/-ระหว่างคํ่าคืน
‘ ป่านนี้คงจะหลับแล้วซิน๊ะ กวีหนุ่ม...’
กวีสาวนอนคลุมโปงฝันเขินๆ
‘ พรุ่งนี้ก่อนเถอะน๊ะ...’
กวีสาวฝัน (กวีหนุ่มคงฝันมากกว่า ?) บนที่นอนปิคนิค


กวีสาวเกวลี อาโนเน่ะ
*
*
กวีหนุ่มหนึ่งนั้น- นั่งเหงา นอนหงอย ใจเฉา
กลืนกิน เป็นอยู่ลำบาก
พรํ่าเพ้อ รายมายเรื่องมาก ตายอดตายอยาก
ผอืดผอม อกตรมทนฝืน
ร่ายน้ำคำกลืนกล้ำคำขื่น ทุกคํ่าวันคืน
หน้าไม่ชื่น ตาไม่บาน
เป็นอยู่อย่างนี้ มานาน จะบ้ามิปาน
จะตายหรือไม่ตายดี
ยิ่งโศกซึม ยิ่งมากมี กาละบีบคั้นทุกที
ทุกข์ ทุกข์ เศร้า เศร้า- เปลี่ยวดาย
โอ้ ! กวีหนุ่มเป็นไปได้ บ้า บ้าจนเป็นไข้
ไม่รู้จักจับจ่ายใจ ,-
‘ กวีสาว น้องสาวสวยใส กวีสาวไปไหน
ทำไมไม่มาดูใจบ้าง ?
ช่วยหน่อยเถอะ ! กวีหนุ่มอ้างว้าง อดสูเรือนร้าง
ค้างแรมนานเนากาลฝน
และหลายหนาวเคลื่อนปะปน กวีหนุ่มอับจน
ทนนอนเดี่ยวหลายคืนแล้ว
กวีสาวจ๋า (เสียงเจื้อยแจ้ว) กวีหนุ่มแห้วแห้ว
คอยแล้ว คอยเล่า คอยอีก ...’
กวีหนุ่มหงอย กระปรอยกระปริก กวีสาวกระเซ้ากระซิก
กวีหนุ่มมีกะจิตกะใจฝันต่อ....


กวีหนุ่มไกวัลย์ เล่ะเท่ะ




ธาร อภิญญา

ถ้อยคำของความรัก


บทกวีที่ถูกเขียนด้วยกวี
ย่อมงดงามและล้ำลึก
เขียนตามที่ใจอยากจะเขียน
เพราะบทกวี คือ บทกวี
..
ครับ ผมเขียนเธอเป็นบทกวีของผม
เพราะเธอเป็นบทกวีของผมได้ตลอดไป
เธอเป็นบทกวี
เธอไม่เป็นอื่น..
..
บทกวี งดงาม ในบทกวี
ความรัก งดงาม ในความรัก
..
ครับ คนงามของผม
..
เพราะความรักนั้นงดงาม
จึงมีบทกวีที่งดงาม
มองสิ มองความรักให้งดงาม
เขียนสิ เขียนบทกวีที่งดงาม
..
ครับ คนงามของผม


พลายพัทลุง/จันทร์วารี

ค่ำคืนแห่งรักและเดือนเกิดของเรา

พบเธอ
ฉันพบชีวิตที่งดงาม
เธอไม่ได้ตั้งคำถาม
ถึงนิยามใดๆ

เธอเป็นให้เห็น
ด้วยความคิดและชีวิต

ฉันเฝ้ามองตั้งคำถาม
ถึงนิยามความเป็นเธอ
ในรูปชีวิตที่งาม
และการดำเนิน

ใจเธอยิ่งใหญ่ในความเป็น
ใจเธอทำให้ฉันตระหนัก
ชีวิตเธอทำให้ฉันเป็น

“ชีวิตก็เป็นเช่นนี้แล
มีหอมหวาน และขมขื่น
ใครบ้างไม่ผ่านห้วงเหวของชีวิต
ใครบ้างไม่ผ่านความอาภัพ อดสู
ใครบ้าง ไม่เคยรู้ซึ้งถึงโลกสีดำ
ใครบ้าง ไม่เคยเจ็บช้ำ ระทมหม่นหมอง
ทุกคนล้วนจะพบพาน และพบพาน
ต้องผ่านให้ได้ ต้องผ่านให้ได้ นั่นคือปณิธาน
หากไม่รู้จักทุกข์ จะรู้ซึ้งถึงคุณค่าความสุขได้อย่างไร”

คำของเธอบอกเล่าแก่ฉัน
ในค่ำคืนเดี่ยวดาย

“ผ่านชีวิตอีกขวบปีแล้วซินะ
มีความสุขค่ะ
มีความสุขกับตัวเอง
มีความสุขกับสิ่งรอบข้าง
มีความสุขที่ได้มองชีวิตอย่างสวยงาม
แม้ชีวิตจะเลวร้าย แต่ในความเลวร้ายความดีงามยังคงอยู่
แม้จะร่ำไห้ แต่รอยยิ้มยังคงมีเสมอ

ความรักงดงาม เพราะโลกนี้งดงาม
มองโลกด้วยรัก โลกจึงงดงาม
มองรักด้วยรัก รักจึงงดงาม”

คำของเธอบอกเล่าแก่ฉัน
ในเดือนเกิดของเรา

ขอบคุณเธอ
ที่ทำให้มองเห็นสิ่งงามแห่งชีวิต สังคม โลก
และจักรวาล



พลายพัทลุง

ขอจงอธิษฐานให้อันธการเถิดคนดี

มาเถอะคนดี
เรามาร่วมกันอธิษฐาน
ให้ฟากฟ้ามืดมิด
เพื่อร่างน้อยๆ แห่งดวงดาว
ได้สุกพรั่งเป็นดาวระยับ

ฟ้ามืดแล้ว
ดาวน้อยๆ วิบวับๆ
ระยับงามตา

ฟ้ามืดแล้ว
ร่างงามของจวงจันทร์
เพ็ญประกาย เด่นดวง
เป็นราศีแห่งฟ้า

มาเถอะคนดี
เรามาร่วมกันอธิษฐาน
อันธการใช่ความเลวร้าย
ดูสิ มันยิ่งขับแสงดำ
ให้เห็นความสุกนวล

ม่านฟ้าในราตรีประดับดาวเคียงเดือน
มีมือและใจของเรา
ประคองเคียงอธิษฐาน



ดาวเดือนกิเลสรัก ฟ้มเมฆกิเลสฝัน

ปัจจยการรัก,การหมายรู้ และความเป็นอื่น

เพื่อนรัก
ระหว่างชาย หญิง
ความละเอียดอ่อนของจิตใจ
การเห็น และความรัก
ความเป็นจริง และการปรุงแต่งฝัน

ความรู้สึกและการหมายรู้ในจิตใจระหว่างชาย หญิง

เรามีความรู้สึกในความรักอย่างไร
เราหมายรู้ในความรักอย่างไร

เรารู้สึก หมายรู้ และเห็นในความรัก
ตามที่เป็นจริงๆ ของภาวะนั้น อย่างไร

เธอเป็นที่พึ่งของฉัน
.. เพราะทำให้ฉันรู้จักเธอ
ฉันเป็นที่พึ่งของเธอ
.. เพราะฉันทำให้เธอรู้จักฉัน

เราอิงอาศัย เรียนรู้กันและกัน
จากความเป็นเรา
ความเป็นเธอ
ความเป็นฉัน
และความเป็นอื่น



มทิรา กามา

เห็น

ยิ่งมองนานเท่าไร
เขาก้อยิ่งรู้สึกถึงความเป็นผู้หญิงในตัวเธอ
ความปรารถนาอันอบอุ่นและสดชื่น
อาบลึกอยู่ในร่างของหญิงสาว
คงจะดื่มจมอยู่ในร่างของเธอ
ท่ามความชุ่มชื่นของความรัก

ไม่ว่าใครก็สามารถบอกสีของท่อนขาของเธอได้
จากการมองแว๊บเดียวที่พวงแก้มทั้งสอง

เธอคือ เตียงนุ่มของหมอนข้างเดียวดาย
เธอเกิดมาเพื่อชายแห่งหญิง

เขารู้สึกถึงความงดงามของใคร่
รู้สึกสว่างในใจที่โดดเดี่ยว
ต่อสิ่งที่เรียกว่า กามตัณหา !


มทิรา กามา

รอย

ร่องรอยของความรักและสติปัญญา
ในเวิ้งฟ้าที่ว่างเปล่า
แตกสลายจากการหล่อหลอมในเป้าหลอมแห่งทิฏฐิ
มิใช่อยู่เหนือการรับหรือปฎิเสธ

เธอและฉัน
ต่างได้ยินเสียงคลื่นรักลูบโลมหัวใจ

ศรัทธาของเราคาบเส้นอยู่ในจิตรู้สึก

บนเส้นทางตัณหา
ฉันและเธอ
คืนเดือนหงายและขนำไม้

เธอรู้สึกเพียงเท่าคู่รักของเธอ

โอ.. คนหนุ่มสาว
กรรมเช่นนี้ของเธอ
เธอ คือ ชีวิต
และทุกสิ่งที่เธอแสดงออกนั้น คือความเป็นจริง
ยึดถือในอิสระตัวตน
ไม่ยิ่งใหญ่ไปกว่าการพอกพูนกิเลสและทิฐิ.


มทิรา กามา

เมรัยพันธนา

ว่างเดือน, มีเพื่อนดาว เปล่งแวมวาว
เศร้าไหว ไหว
ค่ำหนึ่งซึ่งดวงใจ
จะขาดไปเมื่อเริดร้าง

กาละตาย,
ข้าเปลี่ยวดายและอ้างว้าง
เพื่อนเมรัยเรียกหาอยู่ใกล้หัว
และเริงร่าให้มาไว ไว-
กระท่อมโน้นไม่มีใคร
มา เราไปร่ำเมรัยกัน

โศกหนึ่ง ยก,-
เมรัยรส ราดกวาดไส้
ใจไห้หาย..

เมรัยหนุ่มผู้มีพันธะรักกับน้ำมิตร,-เธอ
จิตโรยริน
ลง
ทุกขณะ..

ผละพรากจากสู่ทางจร,--

ดอกเมรัยเผยกลีบตัว
ซัดซ่านไปทั่ววิญญาณ
และร่างที่โซเซ

ทุกอย่างเห็น

ดอกเมรัยผลิโรยร่างลงเปื้อน
ดอกน้ำค้าง



มทิรา กามา

เห็นไหม ?

เธอรู้จัก “ความรัก” ดีแล้วหรือ ?
มันอาจเป็นคำถามที่รกเรื้อ
แต่ เชื่อเถอะ ! ฉันถามด้วยความจริง,-

เพียงคนที่ทำให้เธอพึงพอใจ
เธอครุ่น คลั่งไคล้ในรูปร่าง สัมผัส
และรู้รส
นี้เท่านั้นหรือ ?
ที่เธอเข้าใจและบอกว่า-
เป็นบ่อเกิดของรัก

หากเธอ คิด ตอบเช่นนั้น
เธอไม่ทรยศต่อความรู้สึกของเธอหรอก
เพราะนั้นเป็นสิ่งที่ถูกอย่างหนึ่ง !

เธออยู่กับเขาเพื่อสนองตอบ
ความใคร่ของจิตรู้สึก
จากนั้น เมื่อเธอไร้สิเนหา
เธอพรากเขาเสีย !

เสพอื่นในอีก-องคาพยศ,- เธอต้องการ
ใช่ ! ฉันรู้เห็น
เธอประกอบกามกิจไปเรื่อย
และบอกเล่า,- แบบใหม่,ไม่เบื่อ
เพราะให้ความแปลกต่าง !

เธอเชื่อเช่นนั้นหรือ...
แท้แล้วเธอมองเห็นความเป็นจริง
ที่เป็นจริงๆ หรือไม่ ?
ฉันขอบอก,-
ขณะที่เธอสุขสุขในกิจกรรมนั้น
ความไม่เที่ยงปรากฏอยู่
เธออาจจะรู้ หรืออาจเสแสร้งทำเป็นไม่รู้,ไม่สน


องคาพยศใหม่ที่เธอพบ
ใช้ผลัดเปลี่ยน
เธอไม่เห็นหรือ
มันไม่คงที่ !


.. ขอเธออย่าพรากพรหมจรรย์
และพรหมจารีแห่งตัวตนให้พลั่งพลุ่งมากนักเลย
มันจะทำให้เธอเคยตัว
เพราะจิตไม่อาจพรากจากสวาทได้ !
....
....

มทิรา กามา

เธอ ฉัน บทกวีของเรา

ผู้หญิงของฉัน
ในการดำรงอยู่ของเธอ
ฉันอ่านเธอประดุจดังบทกวี

และในความไกลห่าง
ฉันอ่านเธอดุจดังบทกวีเช่นกัน-
จากความทรงจำในห้วงคำนึง

บทกวีแห่งจิตวิญญาณของฉัน
ในโลกแห่งความงามนั้น
บางที บทกวีสองบท
จักได้สอดประสาน กลมกลืนเข้าด้วยกัน
ก่อเกิดเป็นกวีบทใหม่
ซึ่งดำรงอยู่ใน-
อ ม ต ะ ภ า พ



วรกิจ วรเปโม

ฉันจะเขียนเธอเป็นบทกวี..

ฉันอยากเป็นกวี
เพื่อจะได้เขียนบทกวีให้แด่เธอ
ฉันจะให้เธอเป็นบทกวี

โอ.. เธอผู้เป็นบทกวีของฉัน
ฉันจะเขียนเธอให้เป็นบทกวีอย่างไรดี
ฉันจะเขียนเธอให้เจ็บปวด
หรือจะเขียนตัวฉันเองให้เจ็บปวด

เธอ, ผู้เป็นบทกวีของฉัน
ฉันจะเขียนเธอเป็นบทกวี..อีกหลายๆ ครั้ง
และอีกหลายๆ บท.. หลายวัน-เดือน-ปี
ฉันจะเขียนเธอเป็นบทกวีที่ไม่มีที่สิ้นสุด

เธอจะเป็นบทกวีของฉันที่ไม่มีวันสูญสิ้น

ฉันจะเขียนเธอเป็นบทกวีในทุกห้วงฤดูกาล
ทุกความเป็นจริง
ทุกสิ่ง

กาลนี้ น้ำท่วมอีกครั้ง
ฉันจะเขียนเธอเป็นบทกวีน้ำท่วม
ฝนเริ่มลงเม็ด
ฉันจะเขียนเธอเป็นเม็ดฝน สายฝน
ทั้งที่สาดกระหน่ำและโปรยปรายปรอยน้ำละมุน

แม้ในวันที่แดดสวย หรือร้อนแรง
ฉันจะเขียนเธอเป็นแดดสวย
และแดดที่แรงร้อน แผดเผา




วรกิจ วรเปโม

ในดวงดาวแห่งดวงเดือน

ข้าง ๆ ดาว ณ ริมธารฟ้า มีดวงเดือน
ยามราตรีเยือน
สวรรค์ก็มีเพื่อน คือ จันทร์ดาว

ฟ้าค่ำ คืนนี้
นวลแสงจันทร์ พราวแสงดาว
สว่างและวาบวาว
สวรรค์ ไสว

โอ้.. ดวงดาวแห่งรัก ในเดือนแห่งชีวิต
จักรพาลนี้คิดเยี่ยงไร
ใจแห่งฟ้า

ในดวงดาวแห่งดวงเดือน
เราคือเช่น จักรดารา
ว่ายเวี่ยฟ้า
เวหาสหฤหรรษ์

ข้าง ๆ ดวงเดือน ณ ริมธารฟ้า มีดาว
สุกพร่างพราว
กันและกัน

ดึกสงัด คืนนี้
ดาววิบวับ จันทร์สนาน
ท่องยามราตรี

โอ้.. ดวงดาวแห่งรัก ในเดือนแห่งชีวิต
ดาราและจันทร์
คงยังสถิตย์ฟ้า
กลับมาให้ชื่นชม

ชมจันทร์ ชมดาว
ในดวงดาวแห่งดวงเดือน
แห่งความรัก




วรากร จันทตารา

เล็กๆ น้อยๆ

ฉันเดินมาเก็บฝันในโลกสวยด้วยใจเริงร่า
ฉันพบ ดอกไม้ ดอกไม้
เป็นดอกไม้สวยซึ้งในใจฉัน

ฉันรัก..

ฉันพบผีเสื้อตัวหลากสี
ปีกน้อยๆ ช่างน่ารัก

ฉันยิ้ม..

ฉันพบแมลงตัวหนึ่ง
เกาะอยู่ที่ก้านไม้ดอก
ฉันไม่รู้จักชื่อ
แต่ฉันคิดว่ามันคงไม่ทำให้โลกเลวร้ายจนเกินไป

ฉันอยากให้มันมีอยู่..

ฉันมองเห็นมูลดิน,- ปฏิมากรรมจากไส้เดือน
เป็นเนื้อดินนวลนิ่ม สละสลวยด้วยรูปทรง

ฉันนึกชื่นชม..

ฉันเห็นเมล็ดพันธุ์พืชเล็กๆ
นอนอบอยู่บนผืนดินชุ่มชื่น

ฉันอาจหวังให้ธรรมชาติ
เป็นเช่นนี้ตลอดไป
..


มนี มนา

บันทึกกถา ๔

บันทึกกถา : บดเอื้องจินตนาการฝันระหว่างคืนวันแห่งชีวิตในคำถ้อยต่อเนื่องของใจ

๓.

เดือนแห่งฝน, เป็นช่วงเดือนแห่งปีที่ข้าพเจ้าชอบ
แต่คะเนหมายไม่ได้ว่าจะมากหรือน้อยกว่ากันกับเดือนหนาว
และวันคืนในเดือนแดดร้อน
ชื่นชอบ, แต่สำหรับในระหว่างไตรมาส นั่นคือ เดือนแปด เก้า สิบ
กับอีกหนึ่งเดือนต่อมา- เดือนสิบเอ็ด
เป็นฤดูกาลแห่งการอยู่เรือน อยู่นา
เป็นฤดูกาลสำหรับการเริ่มต้นเพาะปลูกเมล็ดพันธุ์ต้นไม้ที่งดงาม ต้นใหม่
ทั้งเป็นช่วงการเฝ้าระวังดูแลรักษา เพื่อโภชน์ผล
ข้าพเจ้าแลเห็นสิ่งที่เป็นอยู่เช่นนี้-
กฎและเกณฑ์ธรรมชาติที่เกิดขึ้น เป็นอยู่
มนุษย์ได้ทำความรู้จักด้วยการเรียนรู้

ดูเป็นสิ่งน่าประหลาดใจที่มนุษย์มีวิทัศน์ต่อธรรมชาติ
ได้อย่างงดงามเช่นนี้, ข้าพเจ้าคิด
แต่มันไม่เห็นน่าจะประหลาดใจอะไรเลย
ก็เมื่อมนุษย์เกิดขึ้นและเป็นอยู่ในโลกนี้มานานแล้ว

ปฏิการระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติต่อเนื่องกันอยู่แล้ว
และโดยสำคัญมนุษย์ก็เป็นธรรมชาติหนึ่งนั้นด้วย

ข้าพเจ้าเฝ้านั่งดูสายฝนที่ร่วงลงมาด้วยใจเป็นหนึ่งเดียว

กลางวัน เห็นสายฝนเป็นเส้นสายที่อ่อนงามพริ้วโยน
กลางคืน ในทุ่งกว้าง ข้าพเจ้าไม่เห็นสายฝนเลย
แต่รู้ว่าน้ำที่เจิ่งนั้นร่วงมาจากฟ้า
ยามสายอีกวันที่ตื่นขึ้นมา ข้าพเจ้าเห็นน้ำในทุ่ง
ต้นไม้มีใบเขียวสดแปลกงามขึ้นกว่าเดิม
ข้าพเจ้าเปลือยดวงใจให้กระโดดลงไปสัมผัสพื้นดินชุ่มน้ำฝน
ได้เป็นพักๆ จนทำให้ข้าพเจ้ารู้สึกรักสรรพสิ่งขึ้นมาอย่างจับใจ
จนอยากหยั่งรากให้ชอนไชลึกลงไปให้ถึงตาน้ำข้างใต้
แต่ข้าพเจ้าก็ต้องรอคอยวันเวลาเพื่อให้รากแก้วเติบแกร่ง
และให้รากฝอยแตกงามมากกว่าที่เป็นอยู่

.. และข้าพเจ้าก็ไม่อาจบอกกล่าวอะไรแก่ผู้อยู่ร่วมโลกเดียวกันได้
ถึงสิ่งที่ข้าพเจ้ารู้เห็น เป็น มีอยู่
ข้าพเจ้าควรให้ผู้อยู่ร่วมโลกเดียวกันได้รู้เห็น
ด้วยตัวตน ดวงตาและดวงใจของพวกเขาเองดีกว่า
ข้าพเจ้าคิดเห็นว่า ควรจะให้เป็นเช่นนั้น





ธารน้ำฝัน
..........................

กถาบรรณาธิการ ๑


ปรายหน้าบท

กถา ; หมายเหตุแห่งเรื่องราว
ฉบับที่ ๑ เดือนอ้าย เหมันตฤดู พ.ศ. ๒๕๓๕


วัสสากาลผ่านพ้นไปหลายวันคืนแล้ว เหมันตฤดูกำลังเริงร่ายอยู่ในบรรยากาศที่การเมืองกำลังเข้มข้น กระอักกระอ่วน โคลงเคลง.. บางที บางครั้งก็ทำท่าจะก้าวเดินไปบนเส้นทางประชาธิปไตยได้อย่างน่าชื่นชม จะอย่างไรก็ตามแต่ ดวงใจของมวลประชาต่างก็หวังให้เป็นไปอย่างสุขสงบ.. ขอจงเป็นเช่นนั้นเถิด
ด้วยใจรักในการอ่าน การเขียนหนังสืออย่างมากหลากหลาย ดวงใจแห่งวิญญาณจึงใฝ่ฝันที่จะอ่านที่จะเขียน ทั้งเรียนรู้ในกระบวนการและความเป็นหนังสือให้มากๆ จะด้วยวิญญาณแห่งนักอ่าน นักเขียนหนังสือโดยสายเลือด หรือมวลพลังที่ได้เสริมสร้างเป็นแรงใจใฝ่ฝัน มุ่งหวังในปัจจุบันกาล หรืออาจจะเป็นด้วยอิทธิฤทธิ์แห่งอักขระในสวนอักษร หรือจะเป็นแรงใจมุ่งหวังที่จะทำในสิ่งที่ตนเองรัก และเพื่อคนที่เรารัก อย่างใดอย่างหนึ่ง
ด้วยความมีเป็นแห่งสภาวธรรมทั้งปวงก็แล้วกัน- ขอบอกกล่าวเช่นนี้ ที่ได้เอาใจใฝ่ฝันอย่างมีพลังพร้อมที่จะสร้างสรรค์สิ่งๆ หนึ่งเพื่อในหลายๆ สิ่ง
“เป้าหมายของการเขียนหนังสือ คือ การสร้างสรรค์ แสวงหาการสร้างสรรค์จากความเปลี่ยนแปลง” โก้วเล้ง ได้กล่าวไว้เช่นนั้น ข้าพเจ้าเห็นด้วย- ด้วยดวงใจที่ขมปร่าเช่นนำสุราที่เราท่านดื่มกิน
ข้าพเจ้าเดียวดายใต้เงาจันทร์และหมู่ดาวบนฟากฟ้ามาหลายฤดูน้ำท่วม, ก่อนวัสสากาลปีนี้จะย่างถึง ดวงใจและวิญญาณได้รับรู้ถึงความเป็นเช่นนั้น- ในความรัก ความหลากหลายในชีวิตจึงบังเกิดมีขึ้น เป็นอยู่ในความเป็นเช่นนี้อย่างซึ้งใจ บางครั้งสุดที่จะพรรณนาได้.. บางทีข้าพเจ้าคิดว่า ควรรำพันคร่ำครวญไว้บ้าง บนพื้นปัฐพีที่สิงสถิตแห่งตัวหนังสือนี้..
นานวันคืนแล้ว หากข้าพเจ้าเอาจริงเอาจังหรือเข้มงวดกับดวงจิตละวิญญาณส่วนนี้ให้มากกว่านี้ “กถา” เล่มน้อยนิดนี้คงได้ถึงมือพรรคพวก เพื่อนมิตรสหาย พี่น้องและคนที่เรารักนานวันแล้ว ไม่อยากให้อภัยต่อดวงใจตนเอง ที่คิดดิ้นรนในสิ่งที่รัก แต่ไม่คิดดิ้นรนให้จริงจัง แต่ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร เพราะดวงใจมันรุ่มร่ำคร่ำครวญเสียเหลือเกิน..
ขอบอกกล่าวถึง “กถา” หมายเหตุแห่งเรื่องราว.. นี้สักเล็กน้อยเพื่อเพื่อนมิตรจักได้รู้
“กถา” ได้มาจากพระธรรมบทที่ได้ร่ำเรียนรู้อยู่ (กถา อันว่า วาจาเป็นเครื่องกล่าว)
ได้เปิดพจนานุกรมบาลี-ไทย ก็พบมีอยู่ว่า กถา/- ถ้อยคำ, เรื่องราว, นิยาย, จึงเห็นสมใจและได้นำมาเป็นชื่อสาส์นเล่มนี้
พวกเรา “กลุ่มธัมม์ศิลป์นันทะ” ได้คิดและจัดทำขึ้นด้วยจิตวิญญาณที่คิดใฝ่ฝันในการอ่าน การเขียนอย่างมุ่งมั่น หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ในความไม่มีสาระเท่าที่ควรนี้ คงจะมีสิ่งที่เป็นสาระบ้าง เพื่อเป็นสาส์นรำลึก รำพันถึงกันด้วยใจที่รักกัน พร้อมกันนั้น ข้าพเจ้าขอยอมรับในส่วนตนเองว่า “กถา” เล่มนี้เกิดขึ้นเพราะต้องการสนองตัณหาแห่งดวงใจและวิญญาณในสังขารตัวเอง



ขอได้รับความขอบคุณด้วยดวงใจที่รักความรู้สึกที่ดีและปรารถนาดีแด่ทุกท่าน

คุรุการ ศุภกร
21.20 น./ 15 ธ.ค. 35
ร.ร. วัดเขียนเขต ปทุมธานี
--------------------------------------------------------------------------------------------

เช่นนั้นเอง !
(บทส่งท้าย)

รุ่งค่ำๆ หลายวันคืนแล้ว ในที่สุด “กถา” ก็เสร็จจนได้ออกมาในรูปแบบที่ไม่ค่อยได้เรื่องได้ราวเท่าที่น่าจะเป็น จะอย่างไรก็แล้วแต่ข้าพเจ้าหวังเป็นอย่างยิ่งว่า “กถา” นี้คงได้เป็นสาส์นรำลึกถึงกันด้วยความเป็นมนุษยชาติที่มีพันธะต่อกัน จำเป็นอย่างยิ่งที่เราต้องมีความห่วงใยเกี่ยวข้องผูกพันกันในหลายๆ ด้านและหลายสิ่ง
สายใยแห่งความผูกพันที่เป็นดั่งสายโลหิต หล่อเลี้ยงความเป็นรูปตนแห่งผู้คนเราและสรรพสิ่งอยากยิ่งที่จะตัดขาดจากกัน ดังนั้นพวกเราในนานม “กลุ่มธัมม์ศิลป์นันทะ” จึงขวนขวายด้วยแรงดิ้นรนของวิญญาณส่วนหนึ่งที่จะนำความเป็นความมีแห่งสรรพสิ่งที่เป็นอยู่เกลื่อนกลาดหลากหลายลงล่องในสายธารแห่งตัวอักษรให้หลั่งไหลไปด้วยจิตวิญญาณของการแสวงหาชีวิต จะเป็นด้วยคมความคิด ดวงจิตปรารถนา หรือความเพ้อฝันต่างๆ นานา แล้วแต่ละคนจะมี ด้วยหวังที่จะนำพาชีวีแห่งผู้คนและตัวตนเองให้มีจิตใจใฝ่ฝันแต่ในสิ่งที่ดีงามและถอยจากความเลวทรามที่เป็นมีอยู่ในสังคมแห่งผู้คนเรา
ขอให้เราตระหนักว่า “มนุษยชาติมีพันธะ เราต้องมีความรู้สึกที่ดีและให้สิ่งที่ดีแก่มวลสรรพสิ่ง” พบกันใหม่ใน “กถา” ฉบับหน้า



ด้วยใจจริง,อาทรกรุณา
พลายพัทลุง
19 มีนา. 36

(คัดลอกจาก “กถา” ฉบับแรก, ก่อนนั้นพวกเราจัดทำ “ขนำดอกหว้า” และ “ดอกเอื้อง” ด้วยฉบับลายมือเส้นปากกากันไป 3 ฉบับ แล้วมาจัดพิมพ์ กถา เป็นฉบับแรกในนามกลุ่มธัมม์ศิลป์นันทะ โดยพิมพ์ต้นฉบับพิมพ์ดีด อาศัยเครื่องพิมพ์ดีดที่ ร.ร. วัดเขียนเขต ในยามค่ำคืนด้วยความเอื้อเฟื้อของครูเวรขี้เมา- ครูเรณู แล้วนำไปจ้างพิมพ์เป็นต้นฉบับคอมพิวเตอร์ที่ร้านในตลาดรังสิต ค่าพิมพ์ 700 บาท แล้วถ่ายเอกสารแจกกันอ่าน 50 เล่ม)

บรรณกร
คุรุการ ศุภกร
กองวัณณนา
วรรณเสถียร อภัยพงษ์,
ธนพัฒน์ ธนพร,
ศุภพรรณี วรรณการ,
บุษบา กัลยาณเสถียร,
สายรัมย์ ศรารินทร์
ออกแบปก/รูปเล่ม
มทิรามาณพ พร่ำ

บันทึกกถา ๓


บันทึกกถา : บดเอื้องจินตนาการฝันระหว่างคืนวันแห่งชีวิตในคำถ้อยต่อเนื่องของใจ
ธาร อภิญญา

๒.

“เป้าหมายของการเขียนหนังสือ คือ การสร้างสรรค์
แสวงหาการสร้างสรรค์จากความเปลี่ยนแปลง”

(โก้วเล้ง- เดียวดายใต้เงาจันทร์)

ในห้วงเหมันตฤดู
ความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นกับตัวตนฉันอย่างมากมาย
เป็นอารมณ์ชื่นชอบ ใฝ่ฝันและเป็นระยะของดอกรักกำลังผลิบาน
รับแสงงามของอาทิตย์

จนกระทั่งแสงร้อนแรกแผดกล้าจากกำลังแห่งรักรุมเผาจนไหม้กรอบ
ในเดือนแห่งฤดูฝน น้ำท่วม,

จากกำลังแห่งสุขทุกข์ที่สุมรุมเข้า ทำให้ฉันเห็นความแปรเปลี่ยนไป
ของสรรพสิ่งธรรมดาของโลกอย่างจะแจ้งด้วยจิตวิญญาณ

ฉันเห็น – เหล่านั้น เกิด ดับ, เกิด ดับ
อย่างทรมานใจและปลดวาง
แต่บางครั้งเท่านั้นที่สามารถปลดวาง
จิตรู้สึก ระลึกรู้ขึ้นได้ว่า
ฉันควรบันทึกกถาแห่งชีวิตไว้กับโลกบ้าง
กระทำให้เห็นเป็นรูปรอยอักขระว่า
ฉัน เคยมี เคยเป็น เช่นใดบ้าง

ฉันได้บอกเล่ากับคนรักว่า การเปลี่ยนแปลง คือตำนานชีวิตของฉัน
เธอและสรรพสิ่งในโลกที่ฉันได้พบ ได้รู้จัก
เป็นการเกิดขึ้น ดำรงอยู่ และดับไป
ฉันรักการเรียน การอ่านและการเขียนหนังสือ
เธอก็รักหนังสือเช่นเดียวกับฉัน
เรารู้จักกันเพราะรักหนังสือ
ฉันจึงเรียกหนังสือว่า “หนังสือ คือความรักนั้น”
เราซื้อหนังสือมาแลกเปลี่ยนกันอ่าน
เก็บรักษาหนังสือของกันและกัน
เธอบอกว่า ชอบอ่านมากกว่าเก็บไว้
ฉันเลยเก็บหนังสือที่เราต่างซื้อกันมาอ่าน.. โดยลำพัง
วันนั้น ฉันซื้อ “เดียวดายใต้เงาจันทร์ ; โก้วเล้งรำพัน”
ทีข้างตลาดกิมย้ง หาดใหญ่, กำลังยืนอ่านอยู่ข้างรถ,
ช่วงวันตั้งแต่เช้าของวันนั้น เธอโกรธฉันอยู่ ไม่พูดคุยด้วย
แต่เมื่อเธอเห็นฉันถือหนังสือเล่มใหม่ยืนอ่านอยู่
เธอก็รี่เข้ามาหาพูดขอหนังสือไปอ่าน
ฉันยื่นให้เธอ
เธออ่านไปตลอดการเดินทางกลับด้วยอารมณ์ชื่นบาน
ฉันดีใจที่สามารถทำให้เธอกลับมาพูดคุยและยิ้มให้..

ฉันบอกกับเธอว่า จะทำหนังสือสักเล่มหนึ่ง
และเขียนบทกวี เรื่องสั้น นิยาย ตำนานชีวิตของเราไว้ให้อ่านกัน
เธอบอกว่า นั่นอยู่ที่การสร้างสรรค์ และความเปลี่ยนแปลง
....
เธอจากไปในคืนฝนตกหนัก

..........

บันทึกกถา ๒

บันทึกกถา : บดเอื้องจินตนาการฝันระหว่างคืนวันแห่งชีวิตในคำถ้อยต่อเนื่องของใจ
ธาร อภิญญา

๑.

ค่ำคืนดึกหนักแล้วของวัสสากาล
กำลังแห่งลมและฝนสะพัดหนักและเบา
พลิ้วยอดใบไผ่ข้างหน้าต่างระบัดเสียงตามลมน่าฟังยิ่งนัก
เย็นกระสายฝนริ้วผ่านหน้าต่างเข้ามาให้ชื่นฉ่ำในสมปฤดี

กาละที่แผ่วผ่านแต่ละช่วงตอน
นับเนื่องไปกับลมหายใจเข้า ออก สั้น ยาว
และอิริยาบถกับการกระทำที่ไม่แปลกแยก
แต่มีความเป็นที่แปลกต่างในบางครั้งคราว

ภายในห้องที่มีหน้าต่างเปิดอยู่บานเดียว
ตัวหนังสือบนนากระดาษวางซ้อนทับกันอยู่รายรอบขอบห้อง
แลดูเหมือนมันจะเป็นชิ้นส่วนของชีวิตที่มีราคาค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง
ทั้งเล่มใหญ่ น้อย ปกอ่อน แข็ง
มีคุณภาพที่แตกต่างของความเชื่อและคุณค่าที่กำหนด

ฉันอยู่กับมันตลอดการเดินทางของลมหายใจ
จึงเห็นมันเป็นเหมือนกับต้นไม้ทั้งป่าที่ถูกตัดมาสุมไว้ในพื้นที่อันจำกัด
ถึงแม้ฉันจะไม่พอใจกับการทำลายต้นธาตุที่งอกงาม
แต่ฉันก็มีความจำเป็นที่ต้องรับช่วงต่อจากการทำลายสิ่งหนึ่ง
เพื่อสร้างอีกสิ่งหนึ่งขึ้นใหม่ซึ่งมีความแตกต่างและการใช้สอยประโยชน์ใหม่
และฉันคิดว่า มวลธาตุที่มีคงไม่สูญไปจากโลก

ฉันพยายามสร้างสิ่งที่มีผู้ก่อสร้างไว้แล้วด้วยเม็ดเหงื่อของอเนกชน
ที่หลั่งไหลให้ด้วยสายธารแห่งศรัทธาที่มีต่อท่านผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน
ฉันคิดถึงพ่อผู้ให้ธาตุและเกื้อกูลการเรียนรู้

ฉันปรารถนาสร้างมวลแมกไม้ไว้ใกล้ๆ ลมหายใจ
เพื่อเป็นเพื่อนชีวิต ร่วมทุกข์ สุข
และเพื่อรำลึกถึงสังขารที่แตกดับไปของพ่อ

วันและคืนแห่งพระจันทร์ขึ้นแรมในแต่ละห้วงฤดู
ฉันอ่านหนังสืออย่างเพ้อฝันและเพื่อสลายทุกข์
กถาของปราชญ์ปุถุชน และปราชญ์วิญญูชน
เป็นข้าวเมล็ดงามอุดมคุณค่า
ฉันเลือกเสพอย่างต้องการเพื่อการภาวนาแห่งตัวตน

ฉันเก็บเกี่ยวข้าวเหล่านั้นมาไว้ในยุ้งฉางของฉันเสมอ
แล้วซ้อมมาแบ่งปันแก่เพื่อนชีวิตใกล้ชิดด้วยสุขที่เบิกบาน

..............

บันทึกกถา ๑

จากสมุดบันทึก
ฉบับ “บันทึกกถา : อาลยะวิญญาณ และ..ความต่อเนื่อง ไหลเนื่องของใจ”
ธาร อภิญญา

๑๓ กรกฎา. ๒๕๓๘

บนทางผ่าน,-หลายฤดูน้ำท่วม
พราก-พบไปหลายสภาวธรรม
ข้าพเจ้าคิด คิด คิด
และคิดอีกหลายครั้ง- นับไม่ถูกถึงจำนวนครั้ง !
ข้าพเจ้าฝัน ฝัน ฝัน
และฝันในหลายสิ่งอย่าง- นับไม่ถ้วน !

นามและวัตถุธรรมซึ่งเป็นบทแทรกแห่งชีวิต
เติบกล้าและแผ่วโหย ขึ้น-ลง เกิด-ดับ
เป็นอยู่เช่นนั้นเอง !

ชีวา คือการเป็นอยู่ ใช่แล้ว ! การเป็นอยู่นั้น
คือบทศึกษาที่ข้าพเจ้าชื่นชอบ ...
สรรพสิ่งอันเกิดมี ดำรงอยู่ และแปรเปลี่ยน-
ด้วยกฎเกณฑ์ธรรมชาติ
ข้าพเจ้ารักและฝันกับมัน
ได้ทุกโมงยามของลมหายใจ
วิญญาณธาตุและสัญญากำหนดได้
พร้อมเสวยเข้าไปได้ทุกอารมณ์ที่เกิดขึ้น
....
ข้าพเจ้าเห็นว่า อะไรเป็นอะไร ! ?
ทั้งที่จิตใจของข้าพเจ้า พร่ามัวและเครือคลุม !

ข้าพเจ้าพยายามระลึกรู้ กำหนดรู้ และหมายรู้
เพื่อที่ข้าพเจ้าจะได้รักและฝัน หวังกับสรรพสิ่ง-
เหล่านั้นต่อไป,

ข้าพเจ้ารู้สึกขอบคุณธรรมธาตุทั้งปวง
ที่ให้การก่อเกิด ให้ความรู้สึกที่ดีด้วยอาทรกรุณา

ข้าพเจ้าขอบคุณ
-------

(คำกั้นระหว่างวัน)

สัจจะที่แท้ คือความจริงที่มีความบริสุทธิ์ ถึงที่สุด
ความที่ปราศจากความนึกคิดต่างๆ อย่างเด็ดขาด
เรียกว่า ปรีชาของการมีจิตปรกติ
ทุกการเป็นอยู่ ไม่ว่าอิริยาบถใด
จงทำตนให้เป็นผู้มีจิตปรกติ ปราศจากการยึดถือทุกอย่าง

ทำจิตให้ปรกติถึงที่สุด
จิตเหมือนดวงอาทิตย์ ในข้อที่มันอยู่ในความว่าง
ตลอดนิรันดร ส่องแสงได้โดยธรรมชาติของมันเอง
.....
“จงทำจิตให้เป็นจิตชนิดที่ไม่อิงอาศัยอยู่บนอะไรเลย”
ธรรมภาษิตที่สำคัญที่สุด จาก วัชรปรัชญาปารมิตตาสูตร.
.....
ลูกศรถูกยิ่งออกจากคัน ด้วยแรงยิงเพียงครั้งเดียวก็ตกลงดิน
การสร้างชีวิตมีความหวังให้ได้โดยมิอาจเต็ม
.....



*******************

อยู่


.........................

สรรพสิ่ง
เคลื่อนไหว
ในเส้นโค้งกาละ

ข้าฯ จะข้ามฟาก
บนผิวโค้งแห่งเทศะ

ทิ้งความคิด
ไว้บนเส้นตรง

ดำรงอยู่
ท่ามกลาง
ความว่างเปล่า
..........................




อิสิตารา

เธอคือผู้รู้


ตารา สาระ


เมื่อเธอเข้าห้องสมุด
เธอรู้ว่านี้คือห้องสมุด
เธอส่ายตามองหนังสือ
เลือก...หยิบ...อ่านบางข้อความบนปก
เปิดดูบางหน้า
แล้วหาที่นั่ง...,
เพียงเธออ่านด้วยชีวิตปัจจุบัน
คือ ต ร ะ ห นั ก รู้
เธอคือ ผู้ รู้
เธอจักรักหนังสือ
รักชีวิต รักโลก- ทุกสิ่ง
และเธอจักรู้ว่า
ควรถนุถนอม “ความมีอยู่” ได้อย่างไร

มอง


........................

พิศ ณ กายสังขารแต่งปรุง
จรุงด้วยใดใฝ่ฝัน
ชีวิตแต้มงามตามวัน
รูป เงา จิตนั้น รำฤกฯ

..........................



อิสิตารา

ธรรม


ธรรม

คือสิ่งทั้งปวง
มีรูป
ไร้รูป
คือสิ่งที่มีอยู่ก่อนสิ่งทั้งปวง
มีรูป
ไร้รูป
คือสิ่งที่มี
และคือสิ่งที่ไม่มี
มีรูป
ไร้รูป
คือความเป็นธรรมดา
เช่นนั้นเอง

ธรรมทั้งปวง
เพียงรู้เท่าทัน
เกิด
ดำรงอยู่
และดับไปอย่างไร

กราบที่พึ่งของฉัน

ตารา สาระ
๑๓ สิงหา. ๒๕๓๘


พุทธัง ให้แจ้ง
ธัมมัง ให้สว่าง
สังฆัง เบิกทาง ให้สว่างดังดวงแก้ว

....

ฉันสำรวมกาย วาจา ใจ
นั่งลงเบื้องหน้าพระพุทธปฏิมา
กราบลงด้วยการถึงพร้อมแห่งองค์ห้า
แล้วทำใจที่อ่อนล้า ให้รำงับ
จากนั้น ฉันเริ่มนับ หนึ่ง สอง หนึ่งสอง...
เมื่อใจสงบพอ
ฉันเริ่มตริตรองธรรม
ชีวภาพ เกิด-ดับ
ฉันเริ่มรู้จักที่จะกำหนดรู้..

ความเป็นที่ผ่าน เหมือนฝันที่ล่องลอย
อยู่กับโลกธาตุที่เป็นจริง
ไม่มีวัตถุใดที่ฉันจะสามารถเอื้อมหยิบมาครอบครองได้
จนแม้กระทั่งนามธรรมที่ฉันระลึกรู้อยู่

ฉันเริ่มเปล่งคำภาวนา
พุทธํ สรณํ คจฺฉามิ
ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ
สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ

พุทฺโธ เม นาโถ พระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่งของฉัน
ธมฺโม เม นาโถ พระธรรมเจ้าเป็นที่พึ่งของฉัน
สงฺโฆ เม นาโถ พระสังฆเจ้าเป็นที่พึ่งของฉัน

จบคำภาวนา ใจฉันชื่นเย็น
รับความรู้สึกได้ว่า ฉันมีที่พึ่งอันสูงสุด

ฉันไม่ได้สวดอ้อนวอนขอต่อพระรัตนตรัย
ถึงสิ่งที่ฉันอยากให้มีให้เป็น
แต่ฉันภาวนาเพื่อให้เห็นแสงสว่างส่องนำทางชีวิต
....
ฉันคิดได้แล้วว่า ไม่มีสิ่งอื่นใดเป็นที่พึ่งอันประเสริฐ
ศรัทธาในที่พึ่งของฉันก็ไม่คลอนแคลน
เพราะภายในเขตแดนดวงใจฉัน
ได้รู้เห็น ต า ม ค ว า ม เ ป็ น จ ริ ง

ความงาม

วรกิจ วรเปโม
ส. 3 สิงห์. 45/ ใต้ร่มไทร


“ความงาม” ในทัศนะของพระพุทธศาสนา
เพ่งเอาความงามที่เกิดจาก “ธรรม” คือธาตุแห่งความเป็นทั้งปวง
ทั้งที่เป็นรูปธรรมและนามธรรม
ความงามทั้งรูปและนามนั้น มีสภาวะเป็นของดั้งเดิม
มีอยู่แล้วอย่างนั้นเอง (ฐิตา ว สา ธาตุ)

การเข้าไปเกี่ยวข้องรับรู้กับสิ่งที่เป็นรูปและนามนั้น
ขึ้นอยู่กับสภาวะจิตที่เคลื่อนเปลี่ยนในขณะนั้นๆ

ดังนั้น “ความงาม” ในทัศนะพุทธ
น่าจะอยู่ที่กระบวนการรับรู้ของจิตและวัตถุที่กระทบ

วัตถุธรรม ทั้งที่เป็นตามธรรมชาติและที่มนุษย์ปรุงแต่งขึ้น
เป็นธาตุที่มีความงามตามสภาวะธรรม

จิตธรรม เป็นธรรมชาติภายในที่มีสภาพเคลื่อนเปลี่ยนไว
และปรุงแต่งความรู้สึกนึกคิด

ผัสสธรรม คือตัวกลางที่ทำการให้วัตถุกับจิตสัมพัทธ์กัน

ดังนั้น การกระทบกันระหว่างอายตนะภายนอกกับอายตนะภายใน
คือขั้นตอนของการรับรู้ ความงาม ความไม่งามของมนุษย์

กล่าวถึงที่สุดแล้ว การจะรู้ว่า “ความงาม” ได้เกิดขึ้นแล้วนั้น
จึงขึ้นอยู่กับการรับรู้ของแต่ละปัจเจกที่จะมีวิญญาณแห่งการรับรู้ในระดับใดบ้าง
ความงาม คือสิ่งที่ดำรงอยู่แล้วอย่างนั้น ทั้งภายในและภายนอก
เป็นธรรมธาตุ เป็นธรรมนิยาม เป็นธรรมสัจจะ

พระพุทธองค์ ตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย เธอจงกล่าวธรรม
ให้งดงามในเบื้องต้น ให้งดงามในท่ามกลาง และให้งดงามในที่สุด

พระนิพพาน ก็เป็นความงาม
คือความงดงาม ความดีงาม ความชื่นบาน
และคือ ค ว า ม ส ง บ สุ ข.

วันพฤหัสบดีที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2550

กู คือห้องหนังสือ






ดิน ในตัวกู คือ กระดาษและปากกา
นํ้า ในตัวกู คือ เลือดละลายหมึก
ไฟ ในตัวกู คือ แรงปะทุกล้าปรุงแต่งจารึก
ลม ในตัวกู คือ ปะทะสำนึกจารลายลักษณ์
อวิชชา คือ ปกหน้าหนา-บาง หุ้มพลาสติก
โลภจริต คือ คำนำอันคลุกคลั่ก
โทสะ คือ สารบัญไว้เปิดหน้ายักษ์
โมหะ คือ พนักฉากเนื้อเรื่องเปลืองตัว
สังขาร วิญญาณ นามรูป
สฬายนะ จูบตัณหาพาระรัว
อุปาทานยึดมั่นจนน่ากลัว
ชาติ ภพ อยู่จบทั่วบรรณานุกรมชรามรณะฯ

ปล.
กรรม บรรณาธิการ
อวิชชา จัดพิมพ์ครั้งแรก ๒ สิงหาคม ๒๕๑๒
กิเลส พิสูจน์อักษร
บุญ บาป ภาพปก/ภาพประกอบ
ดี ชั่ว จัดจำหน่าย
กุสลา ธัมมาฯ สายส่ง
โลกนี้ ถ่ายเพลทแม่พิมพ์สีขาวดำ
พิมพ์ที่ บริษัท ตัวกูเองคริเอท จำกัด (เอกชน)
จำนวนพิมพ์ ๘,๔๐๐๐ เล่ม
ราคา ๕๐๐ บาทไม่ (มี) ขาย



คัน คนคลอง
๑๒ กรกฎ. ๒๕๔๑

เอนกายสักตื่น.. คลื่นทะเลจะเห่กล่อม





โหมน้ำทะเล กวาดซัด กระทบน้ำเป็นคลื่นเกลียว
ลากน้ำทะเลอีกนั้น รื่นกลับอยู่รับเรียว ทะเลกล่อม
ฟ้าโอบฟ้า โอบเวิ้งน้ำ ทะเลหวังอยู่ยุบย่อม
ลมหุ้มห้อมลอมน้ำฟ้า ทะเลใจ

ฟ้า พายุ ทะเลคลั่ง หวั่นในห้วงน้ำ
ถะถั่ง ณ ยาม ลุล่วงทะเลละไม
น้ำก็ท้นก็ท่วม ขับไส
อุ่นละมุนทะเล เห่กลับไปมา

นี่แหละ ทะเล ! โหมและเห่,-ทะเลคือโลก
เห่กล่อมรักกล่อมโศก วิญญาณ์
โหยหายในทะเล ในห่วงหา
ทะเลก็เห่พา ให้เห็นในทะเล

เอนกายสักตื่นเถิดชีวิต
นั่งมองทะเล ใช่เพียงวิปริตจักกล่อมเห่
แท้แล้วชีวิตนั้นดังฝันในสัพเพ
ทะลักคลื่น คืนวันหันเห.. ทะเลจะเห่กล่อม



“บุหลันกัลยา”
5กันย์.50

สำนักวัดเขาอ้อ เมืองพัทลุง:มหาวิชชาไลยพุทธาคม แบบพราหมณ์-ฮินดู พุทธมหายานศรีวิไชยในอดีตกับปัจจุบันที่คงอยู่ในความไหวเปลี่ยน



สำนักวัดเขาอ้อ เมืองพัทลุง
ตักกสิลาทางไสยเวทแห่งภาคใต้สยามประเทศไทย
: มหาวิชชาไลยพุทธาคม แบบพราหมณ์-ฮินดู พุทธมหายานศรีวิไชยในอดีต
กับปัจจุบันที่คงอยู่ในความไหวเปลี่ยน

โดย เลข อักขระ

(ทุ) เขาอ้อคดีศึกษา ๑
: ประวัติศาสตร์และโบราณคดี

วัดเขาอ้อ เป็นวัดเก่าแก่โบราณวัดหนึ่ง ที่มีความสำคัญทางด้านศิลปะและโบราณคดี ตั้งอยู่ หมู่ที่ ๓ ตำบลมะกอกเหนือ อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง ชาวพัทลุงเชื่อกันว่าเป็นวัดที่ศักดิ์สิทธิ์ และมีชื่อเสียงทางด้านความเชื่อทางไสยศาสตร์มาตั้งแต่โบราณกาล
นับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ท่านเจ้าอาวาสวัดเขาอ้อหลายต่อหลายรูป ล้วนแต่เป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องไสยศาสตร์ วิชาการ เวทมนตร์ และคาถาต่างๆ จึงได้รับการรักษาถ่ายทอดสืบต่อกันมามิได้ขาดสาย จนเป็นที่เลื่องลือไปทั่วทุกสารทิศ
ความเชื่อทางไสยศาสตร์ของวัดเขาอ้อที่นิยมใช้ประกอบพิธีกรรม ที่สำคัญมีอยู่ ๔ พิธี คือ
๑. พิธีเสกว่าน เสกยาให้กิน ทำโดยการนำว่านที่เชื่อว่ามีสรรพคุณทางด้านอยู่ยง คงกระพัน มาลงอักขระเลขยันต์ แล้วนำไปปลุกเสกด้วยอาคมตามหลักไสยศาสตร์ หลังเสร็จพิธีจะนำมาแจกจ่ายให้กิน
๒. พิธีหุงข้าวเหนียวดำ ทำโดยนำเครื่องยาสมุนไพร หรือว่านต่างๆ ไม่น้อยกว่า ๑๐๘ ชนิด มาต้มเอาน้ำยาใช้หุงกับข้าวเหนียวดำ เมื่อข้าวเหนียวสุกแล้วนำไปเข้าพิธีปลุกเสก ก่อนนำมาป้อนให้กิน
๓. พิธีเสกน้ำมันงาดิบ ทำโดยใช้นำน้ำมันงาดิบหรือน้ำมันยางแดงผสมว่าน พระอาจารย์ผู้ประกอบพิธีนั่งบริกรรมคาถาจนน้ำมันแห้ง แล้วจึงนำมาป้อนให้กิน
๔. พิธีแช่ว่านยา ทำโดยให้ผู้ต้องการเข้าประกอบพิธีกรรม ลงไปนอนแช่ในน้ำว่านยา ที่ได้ปลุกเสกตามหลักไสยศาสตร์ จากพระอาจารย์ผู้ประกอบพิธีกรรมมาแล้ว
เชื่อกันว่าศิษย์จากสำนักวัดเขาอ้อที่ได้เล่าเรียนวิชา และผ่านพิธีกรรมต่างๆ ทางไสยศาสตร์ที่กล่าวมาแล้วนั้น ย่อมมีพลังร่างกายที่คงกระพัน

สำนักวัดเขาอ้อ ตามตำนานกล่าวว่า ภูเขาอ้อเป็นบรรพตแห่งพราหมณ์หรือฤาษีผู้ทรงวิทยาคุณใช้เป็นที่พำนักเพื่อบำเพ็ญพรตและตั้งสำนักถ่ายทอดวิชาความรู้แก่ผู้แสวงหาวิชาเพื่อใช้ในการปกครองและเลี้ยงชีพ ตามตำราพระธรรมศาสตร์ ตำราอาถรรพเวท ตำราพิชัยสงครามและอายุรเวท ต่อมาเมื่ออิทธิพลของพราหมณ์ลดบทบาทลง วิชาของเขาอ้อได้ถูกถ่ายทอดสู่พระภิกษุ
หลักฐานทางประวัติศาสตร์วัดเขาอ้อ มีปรากฏในพงศาวดารเมืองพัทลุง ในเรื่องการตั้งเมืองพัทลุง ต่อมาอาจารย์ชุม ไชยคีรี ได้เรียบเรียงไว้ในหนังสือ “พระครูสังฆวิจารณ์ฉัททันต์บรรพต (อาจารย์ทองเฒ่า) อาจารย์ผู้เฒ่าเขาอ้อ” และมีกล่าวถึงวีรกรรมของท่านมหาช่วย คราวสงครามเก้าทัพต้นรัตนโกสินทร์ ในหนังสือ “ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๑๕, จดหมายเหตุของหลวงอุดมสมบัติ ต่อมาได้มีการจัดทำหลักฐานล่าสุดในสารานุกรมวัฒนธรรมท้องถิ่นภาคใต้ โดยสถาบันทักษิณคดีศึกษา มหาวิทยาลัยทักษิณ
หลักฐานทางโบราณคดีภายในวัดเขาอ้อภูเขาอันศักดิ์สิทธิ์ คือ ถ้ำฉัททันต์ พระพุทธรูปภายในถ้ำ ซากเจดีย์ ซากรอยพระพุทธบาทบนยอดเขา พระพุทธรูปหล่อด้วยสำริด ๑ องค์ และหล่อด้วยเงิน ๑ องค์ ชาวบ้านขนานพระนามเรียกกันว่า “เจ้าฟ้าอิ่ม เจ้าฟ้าดอกมะเดื่อ” อุโบสถมหาอุด รูปปั้นพระอาจารย์ทองหูยานภายในถ้ำ และ “เต้พ่อท่าน” (กุฏิเจ้าอาวาส) กับ "บัว" (เจดีย์บรรจุกระดูกอดีตเจ้าอาวาส) ซึ่งมาในสมัยหลวงพ่อกลั่น เป็นเจ้าอาวาส ท่านได้บูรณปฏิสังขรณ์ใหม่ทั้งหมด

(สะ) เขาอ้อคดีศึกษา ๒
: พระอาจารย์และศิษยานุศิษย์

วัดเขาอ้อ เมืองพัทลุง เป็นแหล่งวิทยาคมทางไสยศาสตร์ ที่มีชื่อเสียงโด่งดังมา ตั้งแต่สมัยโบราณ พระเกจิอาจารย์ผู้สืบต่อวิชาทางไสยศาสตร์ ต่างก็เป็นที่พึ่งที่เคารพศรัทธาของประชาชนทั่วไป เช่น พระอาจารย์ทอง สมเด็จเจ้าจอมทอง พระอาจารย์พรมทอง พระอาจารย์ไชยทอง พระอาจารย์ทองจันทร์ พระอาจารย์ทองในถ้ำ พระอาจารย์ทองหน้าถ้ำ พระอาจารย์สมภารทอง
จนมาถึงยุครัตนโกสินทร์ พระอาจารย์ที่เป็นบรมครู คือ
พระอาจารย์พระครูสังฆวิจารณ์ฉัททันต์บรรพต (พระอาจารย์ทองเฒ่า)
ศิษย์พระอาจารย์ทองเฒ่า ได้แก่
พระอาจารย์ปาล ปาลธัมโม วัดเขาอ้อ
พระครูสิทธยาภิรัต (พระอาจารย์เอียด) วัดดอนศาลา
พระครูรัตนาภิรัต (พระอาจารย์เน) วัดควนปันตาราม
พระอาจารย์เกลี้ยง วัดดอนศาลา
พระอาจารย์มืด วัดป่าตอ
พระอาจารย์เปรม ติสสโร วัดวิหารสูง
พระครูพิศิษฐ์บุญญสาร (พระอาจารย์ปลอด) วัดหัวป่า ระโนด
พระอาจารย์เล็ก วัดประดู่เรียง
พระอาจารย์หมุน วัดเขาแดง
พระครูแก้ว วัดโคกโดน
พระอาจารย์นำ แก้วจันทร์ วัดดอนศาลา
หลวงปู่ฤทธิ์ อิสสโร วัดบ้านสวน
หลวงพ่อครน วัดลานแซะ
หลวงปู่แก้ว วัดท่าสำเภาใต้
หลวงปู่แต้ม วัดท่าสำเภาเหนือ
ฯลฯ
และที่เป็นศิษย์คฤหัสถ์ที่คนทั่วไปรู้จักกันดี ได้แก่
พระยาอภัยลำปำ
พล.ต.ต.ขุนพันธรักษ์ราชเดช
อาจารย์แจ้ง เพชรรัตน์
อาจารย์เปรม ฯลฯ

ศิษย์ที่สืบทอดต่อมา ได้แก่
พระครูพิพัฒน์สิริธร (พระอาจารย์คง สิริมโต) วัดบ้านสวน
พระครูกาชาด (พระอาจารย์บุญทอง) วัดดอนศาลา
พระครูสังฆรักษ์เอียด วัดโคกแย้ม
พระครูสิริวัฒนการ (พระอาจารย์ศรีเงิน อาภาธโร) วัดดอนศาลา
พระครูพิพิธวรกิจ (พระอาจารย์คล้อย อโนโม) วัดภูเขาทอง
พระครูประสิทธิวราคม (พระอาจารย์เทพ) วัดประดู่เรียง
พระครูประจักษ์วิหารคุณ (พระอาจารย์เศียร) วัดวิหารสูง
พระครูวิโรจน์ศาสนกิจ (พระอาจารย์ช่วง) วัดควนปันตาราม
พระครูวิจิตรธรรมภาณ (พระอาจารย์สลับ) วัดป่าตอ
พระอาจารย์มหาอุทัย วัดดอนศาลา
พระครูขันตยาภรณ์ (พระอาจารย์พรหม ขันติโก) วัดบ้านสวน
พระครูอดุลธรรมกิตติ์ (หลวงพ่อกลั่น) วัดเขาอ้อ
พระครูสุธรรมวัฒน์ วัดพิกุลทอง
พระอาจารย์มหาจรูญ
พระอาจารย์มหาชวน วัดโคกเนียน
พระครูวิจารวรคุณ (พระอาจารย์ประดับ) วัดป่าตอ
พระครูถิรธรรมานันท์ (พระอาจารย์เงิน) วัดโพรงงู
ฯลฯ
และที่เป็นศิษย์คฤหัสถ์ ได้แก่
อาจารย์ชุม ไชยคีรี
อาจารย์เริ่ม เขมะชัยเวช
อาจารย์ประจวบ คงเหลือ
อาจารย์เปลี่ยน หัสทยานนท์ ฯลฯ

มาถึงศิษย์รุ่นใหม่ปัจจุบัน ได้แก่
พระครูปัญญาธรรมนิเทศ (อาจารย์บุญราย) วัดสุวรรณคีรี
พระปลัดสมคิด วัดดอนศาลา
พระอาจารย์มหาศุภกร (อาจารย์ดาว) วัดบ้านสวน
พระครูวิจิตรกิจจาภรณ์ (อาจารย์เสถียร) วัดโคกโดน
พระครูโสภณกิตยาทร (อาจารย์รรรสิริ) วัดบ้านสวน
พระครูโสภณปัญญาสาร (อาจารย์ศัลย์) วัดนิคมพัฒนาราม
พระครูอุทัย อุทโย วัดวิหารสูง
พระครูสมุห์วิชาญชัย วัดพะโค๊ะ
พระอาจารย์มหาสุวรรณ (อาจารย์ทอง) วัดบ้านสวน
หลวงพ่อห้อง วัดเขาอ้อ
ฯลฯ

พระอาจารย์และศิษยานุศิษย์ ที่กล่าวถึงนี้เพียงส่วนหนึ่งเท่าที่ผู้เขียนทบทวนรำลึกได้เท่านั้น เพราะนั่งนับทบทวนเอาตามรายชื่อและเรียงลำดับพระอาจารย์และศิษยานุศิษย์ที่เรียนสืบต่อสายตรงกันมาจากเขาอ้อ และกล่าวได้ว่า ศิษย์สายเขาอ้อ ทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์มีมากมายจนไม่อาจนับได้ถ้วน ทั้งในจังหวัดพัทลุง จังหวัดใกล้เคียง และอยู่ทั่วในผืนแผ่นดินสยามประเทศไทยและต่างประเทศ เพราะมีการสืบต่อวิชากันทั้งแบบสายตรงและแบบครูพักลักจำ เรียนต่อๆ กันไปจากบุคคลหนึ่งสู่อีกบุคคลหนึ่ง
พระเกจิอาจารย์สายเขาอ้อ ศิษย์สายเขาอ้อ และตำหรับวิชาเขาอ้อ จึงแผ่กระจายไปทั่วทุกสารทิศนับแต่โบราณกาลตราบเท่าจนปัจจุบัน

(มะ) เขาอ้อคดีศึกษา ๓
: การศึกษาเรียนรู้และยุทธศาสตร์ในเป้าหมาย

การสืบทอดวิชาสายเขาอ้อ สืบต่อกันมาโดยศิษย์ฝ่ายบรรพชิตและศิษย์ฝ่ายคฤหัสถ์ โดยฝ่ายบรรพชิตนั้น จะเล่าเรียนต่อจากพระอุปัชฌาจารย์ พระกรรมวาจาจารย์ พระอนุสาวนาจารย์ และพระอาจารย์ โดยมีศิษย์ฝ่ายคฤหัสถ์เล่าเรียนคู่กันมา เรียกว่า ทั้งพระและชาวบ้าน เรียนกันมาโดยแบบพ่อสอนลูก พี่สอนน้อง ให้การศึกษาเรียนรู้ซึ่งกันและกัน บางท่านเรียนให้สำเร็จอิทธิทั้งทางวัตถุและธรรม บางท่านก็ไม่ได้เปิดเผยตัว เรียนค้นคว้าแล้วนิ่งเสีย บ้างก็เรียนจนเข้าสู่วิปัสสนากรรมฐานไปฝ่ายเดียว แต่ที่สำคัญยิ่งคือ เรียนไว้เพื่อทำตนเองและช่วยเหลือผู้อื่นให้พ้นทุกข์


(นิ) เขาอ้อคดีศึกษา ๔
: วิชาพุทธาคมเขาอ้อ ไสยศาสตร์บริสุทธิ์
พุทธ พราหมณ์ เพื่อชีวิตโลกนี้ โลกหน้าและพ้นจากโลก

วิชาสำคัญของสำนักเขาอ้อ แบ่งได้เป็น ๓ สาขา ได้แก่
๑. วิชาไสยเวท ได้แก่ การหุงน้ำมันงา การหุงข้าวเหนียวดำ การเสกว่านยา
การอาบแช่ว่านยา การสักยันต์ด้วยดินสอดำ การลงตะกรุด ๑ ดอก ๕ ดอก ๑๖ ดอก วิชาฤกษ์ยาม และการสร้างอิทธิวัตถุมงคลต่างๆ
๒. วิชาแพทย์โบราณ ได้แก่ การทำผงยาวาสนา การหุงต้มยารักษาโรค
๓. วิชาพุทธาคม ซึ่งเป็นสุดยอดวิชาของเขาอ้อ ที่ครอบคลุมศาสตร์ทั้งปวง
และคงความสำเร็จอยู่ในการถือพระคาถาและอิทธิวัตถุมงคลทั้งหมด เป็นปริศนาธรรมที่บุคคลเข้าถึงได้ด้วยใจสัมมาทิฏฐิ และถือการประพฤติเป็นสัมมาปฏิบัติตามพระอริยมรรคแห่งองค์บรมครูสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
วิชาพุทธาคม เป็นญาณวิทยา และสัญญลักษณ์วิทยา ที่อยู่ในรูปของอักขระพระคาถา เลขยันต์ ในมวลธาตุสรรพสารที่ใช้ประกอบสร้างอิทธิวัตถุ บุคคลผู้เข้าถึงธาตุทั้งปวง จักเข้าถึงธรรมทั้งปวง นั่นก็คือ ถึงความศักดิ์สิทธิ์ทั้งหมด ได้รับอิทธิผลอันเป็นประโยชน์มหาศาล สูงสุด

ความศักดิ์สิทธิ์แห่งพระคาถา
ความศักดิ์สิทธิ์แห่งอิทธิวัตถุมงคล
ความศักดิ์สิทธิ์แห่งธาตุและธรรมทั้งปวง
คือ ความศักดิ์สิทธิ์แห่งสัมมาทิฏฐิและสัมมาปฏิบัติของบุคคล

ธาตุ คือ ธรรมทั้งปวง มีความศักดิ์สิทธิ์อยู่ในตัว
ผู้ถือธาตุ ถือธรรมย่อมประจักษ์ในอิทธิ
---------------------

*บทความนี้ขอน้อมบูชาพระบริสุทธิคุณ พระปัญญาธิคุณ และพระมหากรุณาคุณแห่งบรมครูสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คุณพระมาตาปิตุ และคุณแห่งบูรพาจารย์สายเขาอ้อทุกท่าน

“เลข อักขระ”
วันพระ ศุกร์ที่ ๘ มิถุนา. ๒๕๕๐ แรม ๘ ค่ำเดือน ๗

อยู่กับชีวิต : ปัจจยการ ๑๑ แห่งชีวิต (๑)

อยู่กับชีวิต : ปัจจยการ ๑๑ แห่งชีวิต



๑. อิริยาบถชีวิต : ยืน เดิน นั่ง นอน / สติปัฏฐาน ๔

ในวิถีการดำเนินชีวิตแต่ละวันของมนุษย์ ๆ เราใช้รูป- สรีระร่างกายเคลื่อนไหว กระทำการต่างๆ โดยมีจิตธรรม ความรู้สึก นึก คิด กำหนดความเป็นไป
ธรรม คือสิ่งที่ทำให้มนุษย์ เป็นอยู่ในขณะนั้นๆ มี ๒ อย่าง คือ สติ – ความระลึกได้ กับ สัมปชัญญะ –ความรู้ตัว หากในขณะใดที่เรารู้สึกตัวทั่วพร้อม เราจักดำเนินชีวิตได้ดี
ที่ที่จักทำให้เรามีสติสัมปชัญญะ มี ๔ คือ กาย- ร่างกายตัวเรา เวทนา- ความรู้สึกเป็นสุขเป็นทุกข์ เฉยๆ จิต- ความรู้สึก นึก คิด ธรรม- สิ่งทั้งปวง หรือสรรพสิ่งที่เราเห็นในรูปวัตถุ และที่เราเห็นด้วยใจ
ในขณะที่เราเคลื่อนไหว ยืน เดิน นั่ง นอน เราใคร่ครวญเห็นในกาย เวทนา จิต ธรรม รู้ว่ามีความเป็นไปอย่างไร จักทำให้เราเข้าใจชีวิต เข้าใจปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ทั้งในอดีต ขณะปัจจุบัน และที่ใกล้จะเกิดขึ้น และจักทำให้มีความสามารถในการจัดการ
นี่จึงเป็นที่มาของการให้ทำสมาธิภาวนา เพื่อทำให้จิตใจเราบริสุทธิ์ไม่เศร้าหมอง
มีความตั้งใจมั่น จนทำให้เหมาะกับการที่จะกระทำการงานต่างๆ ในชีวิตได้อย่างมีสุข

มีบทภาวนามาฝากเพื่อการเป็นอยู่ในอิริยาบถชีวิต /-

“....หายใจออก, ฉันรู้ว่าฉันกำลังหายใจออก, เข้า/ออก,
หายใจเข้า, ฉันเห็นตนเองเป็นดังดอกไม้,
หายใจออก, ฉันรู้สึกสดชื่น, ดอกไม้/สดชื่น,
หายใจเข้า, ฉันสงบกาย วาจา ใจ,
หายใจออก, ฉันยิ้ม, สงบ/ยิ้ม,
เข้า/ออก, ดอกไม้/สดชื่น, สงบ/ยิ้ม....”


“....การก้าวของฉัน, คือการกระทำที่สำคัญที่สุด,
อนาคตของฉันและโลก, ขึ้นอยู่กับก้าวแต่ละก้าวของฉัน,
การยืน เดิน นั่ง นอน, กิน ดื่ม, ทำ พูด คิดของฉัน, คือทางแห่งการเรียนรู้,
ดอกบัวบาน จากเท้าแต่ละก้าว, ดอกบัวบาน จากเท้าแต่ละก้าว,
ฉันเดินบนโลกสีเขียว, เพื่อสันติสุขแห่งสรรพสัตว์....”

-------------------------------------------------------------------------------------
ธรรมมีอุปการะมาก ๒
(ธรรมที่เกื้อกูลในกิจหรือในการทำความดีทุกอย่าง —virtues of great assistance)
๑. สติ (ความระลึกได้, นึกได้, สำนึกอยู่ไม่เผลอ — mindfulness)
๒. สัมปชัญญะ (ความรู้ชัด, รู้ชัดสิ่งที่นึกได้, ตระหนัก, เข้าใจชัดตามความเป็นจริง —clear comprehension)
ที.ปา.๑๑/๓๗๘/๒๙๐; องฺ.ทุก.๒๐/๔๒๔/๑๑๙

สติปัฏฐาน ๔
(ที่ตั้งของสติ, การตั้งสติกำหนดพิจารณาสิ่งทั้งหลายให้รู้เห็นตามความเป็นจริง คือ ตามที่สิ่งนั้นๆ มันเป็นของมันเอง - foundations of mindfulness)
๑. กายานุปัสสนา สติปัฏฐาน (การตั้งสติกำหนดพิจารณากายให้รู้เห็นตามเป็นจริง ว่า เป็นเพียงกาย ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา - contemplation of the body; mindfulness as regards the body) ท่านจำแนกปฏิบัติไว้หลายอย่าง คือ อานาปานสติ กำหนดลมหายใจ ๑ อิริยาบถ กำหนดรู้ทันอิริยาบถ ๑ สัมปชัญญะ สร้างสัมปชัญญะในการกระทำความเคลื่อนไหว้ทุกอย่าง ๑ ปฏิกูลมนสิการ พิจารณาส่วนประกอบอันไม่สะอาดทั้งหลายที่ประชุมเข้าเป็นร่างกายนี้ ๑ ธาตุมนสิการ พิจารณาเห็นร่างกายของตนโดยสักว่าเป็นธาตุแต่ละอย่างๆ ๑ นวสีวถิกา พิจารณาซากศพในสภาพต่างๆ อันแปลกกันไปใน ๙ ระยะเวลา ให้เห็นคติธรรมดาของร่างกาย ของผู้อื่นเช่นใด ของตนก็จักเป็นเช่นนั้น ๑
๒. เวทนานุปัสสนา สติปัฏฐาน (การตั้งสติกำหนดพิจารณาเวทนา ให้รู้เห็นตามเป็นจริงว่า เป็นแต่เพียงเวทนา ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา - contemplation of feelings; mindfulness as regards feelings) คือ มีสติรู้ชัดเวทนาอันเป็นสุขก็ดี ทุกข์ก็ดี เฉยๆ ก็ดี ทั้งที่เป็นสามิส และเป็นนิรามิสตามที่เป็นไปอยู่ในขณะนั้นๆ
๓. จิตตานุปัสสนา สติปัฏฐาน (การตั้งสติกำหนดพิจารณาจิต ให้รู้เห็นตามเป็นจริงว่า เป็นแต่เพียงจิต ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา - contemplation of mind; mindfulness as regards thoughts) คือ มีสติรู้ชัดจิตของตนที่มีราคะ ไม่มีราคะ มีโทสะ ไม่มีโทสะ มีโมหะ ไม่มีโมหะ เศร้าหมองหรือผ่องแผ้ว ฟุ้งซ่านหรือเป็นสมาธิ ฯลฯ อย่างไรๆ ตามที่เป็นไปอยู่ในขณะนั้นๆ
๔. ธัมมานุปัสสนา สติปัฏฐาน (การตั้งสติกำหนดพิจารณาธรรม ให้รู้เห็นตามเป็นจริงว่า เป็นแต่เพียงธรรม ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา - contemplation of mind-objects; mindfulness as regards ideas) คือ มีสติรู้ชัดธรรมทั้งหลาย ได้แก่ นิวรณ์ ๕ ขันธ์ ๕ อายตนะ ๑๒ โพชฌงค์ ๗ อริยสัจ ๔ ว่าคืออะไร เป็นอย่างไร มีในตนหรือไม่ เกิดขึ้น เจริญบริบูรณ์ และดับไปได้อย่างไร เป็นต้น ตามที่เป็นจริงของมันอย่างนั้นๆ.
ที.ม.๑๐/๒๗๓-๓๐๐/๓๒๕-๓๕๑.

ความเคลื่อนไหวท้องถิ่น : ชาวบ้านกับรัฐธรรมนูญใหม่

ความเคลื่อนไหวท้องถิ่น : ชาวบ้านกับรัฐธรรมนูญใหม่

หายไปหลายวัน กลับมาพูดคุยเป็นถ้อยคำในรูปอักขระกันต่อน่ะครับ
มีหลายเรื่องที่จะเขียนบอกเล่าเสวนากันแต่ไม่ค่อยได้ว่างมานั่งบ้านตนเอง มัวแต่ไปบ้านคนอื่นๆ
ตามประสานายไขเคว็ดหล่ะครับ อิ-อิ

ประชามติก้อไม่ได้ไปกากบาทขีดรับกะเขา เพราะติดขัดกับการงาน ทำให้พลาดในการร่วมบันทึกประวัติศาสตร์สยามไทยในยุค 2550
ผมเจ็บหัวอยู่กับรัฐธรรมนูญง่ะครับ เพราะกำลังทำงานวิจัยที่ใช้ถ้อยคำกฎหมายในรัฐธรรมนูญ ปี 2540 แต่อยู่ๆ วันสำคัญของผมมาถึงพอดิบพอดีในวันเดียวกับวันรัฐประหาร เลยทำให้มึนตื้บ จากวันนั้นจนวันนี้
การบ้านการหมู่บ้านของผมเลยต้องซุกตัวอยู่เงียบๆ นั่งมองแลความเคลื่อนเปลี่ยนของสังคม ชุมชนไปอย่างเรียบเรื่อยไปเรียงๆ ยังไม่ได้จับหลักจับฐานใดให้มั่นสักทีเลย

มาเมื่อวันศุกร์ที่ 3 สิงหา ผมได้กลับไปสู่ชุมชนครั้งแรกของปีนี้ ไปเพราะได้รับโทรศัพท์เรียกประชุมคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน เพื่อรับฟังและร่วมให้ข้อเสนอแนะในการจัดการศึกษาเรียนรู้ของโรงเรียนในชุมชน
ยังพบกับบรรยากาศเดิมๆ คณะกรรมการฯ จากในชุมชนยังคงได้แต่เพียงรับฟังจากคำของครู

ชุมชนของเรายังคงมีส่วนร่วมเพียงการรับฟัง และเห็นตาม !

แม้กระทั่งงบประมาณที่ท้องถิ่นเอามาสนับสนุนก็ยังเพียงเจียดมาให้อย่างน่าสงสารเด็กๆ
เด็กๆ ที่เป็นลูกหลานในชุมชน
....
ผมอ่านร่างรัฐธรรมนูญเพียงแต่หมวดพระมหากษัตริย์
และไม่ได้สนใจมากมายกับการเรียกร้องให้จดจารพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ
ผมนิ่ง และห่างกับการงานของบ้านเมือง
ทำตัวเพียงนั่งแล

แต่ผมคิดถึงท้องถิ่น ชุมชนของสยามประเทศไทยอย่างมากมาย
ผมคิดถึงอย่างแรง

ฟังข่าวว่าแต่ละถิ่นมีความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ ในช่วงก่อนและวันลงประชามติกันไปต่างๆ นานา แม้กระทั่ง วันนี้

ผมคิดถึง “ผู้นำ” ในทุกระดับ
ผมคิดถึง “ชาวบ้าน”
ผมคิดถึง “ความเป็นของชุมชนท้องถิ่น”

แล้วทำให้คิดถึงคำของอาจารย์ผู้เฒ่า- “พัฒน์ บุณยรัตพันธุ์” แห่งมหาดไทย
ท่านบอกเล่าไว้ว่า : -

“พระอรหันต์ ย่อมรู้จักพระอรหันต์
นักพัฒนา ย่อมเห็นนักพัฒนา”

“การงานแห่งพระศาสนากับงานพัฒนาชุมชน เป็นอย่างเดียวกัน”

“ถือทุกข์เป็นเป้าหมายหลัก และหาวิธีการดับทุกข์”

“พัฒนาชุมชนกับพระศาสนาทำงานสร้างศรัทธามหาชน”

“ทำศรัทธาให้เกิดก่อนๆ ทำให้เกิดรูปธรรม”

“บ่อน้ำที่ชาวบ้านบอกว่า ช่วยกันขุดเอง คือบ่อน้ำพัฒนาชุมชน”

....


รัฐธรรมนูญใหม่

ไม่ทราบว่า “ชาวบ้าน” ได้ “ช่วยกันขุดเอง” อย่างแท้จริงแค่ไหน
หมู่บ้านได้เป็นฐานทัพยุทธศาสตร์ในการพัฒนาการบ้านการเมือง เพียงใด

“การทำให้เกิดความเคลื่อนไหว”
จะเป็นอย่างไรต่อไป

ผมนั่งแล..

สายน้ำแห่งดวงใจของผม (1-2)

สายน้ำแห่งดวงใจของผม


1
สายน้ำแห่งดวงใจของผม
ผมนึกถึงคำของคุณขึ้นมา,-
“ความรู้สึกคิดถึงมันทรมานนะ..”
จริงๆ ด้วย
ผมก็รู้สึกเช่นนั้น
แต่ผมปรารถนาเหลือเกิน -
ปรารถนาให้ดวงใจของเราทั้งสอง
รู้สึก-นึก-คิดแล้ว
อบอุ่น เข้าใจ รัก
หวังและเฝ้ารอ

จาก..ดวงดาวของคุณ

2
สายน้ำแห่งดวงใจของผม
แม้ระหว่างนี้ฟ้าจะมืดด้วยเมฆหม่น
ครึครืน ฝนโปรย
และค่ำคืนอาจจะไม่เห็นดวงดาว
แต่ขอให้คุณมีดาวในดวงใจ
เช่นเดียวกันกับผม
ที่มีสายน้ำในดวงใจ

จาก..ดวงดาวของคุณ

ถวิลกถา ณ คำใจในเรียม

ถวิลกถา ณ คำใจในเรียม


“เขียนสิ เขียนบทกวีที่งดงาม

บทกวีที่ถูกเขียนด้วยกวี
ย่อมงดงามและล้ำลึก
เขียนตามที่ใจอยากจะเขียน
เพราะบทกวี คือ บทกวี

บทกวี งดงาม ในบทกวี
ความรัก งดงาม ในความรัก
เพราะความรักนั้นงดงาม
จึงมีบทกวีที่งดงาม

มองสิ มองความรักให้งดงาม
เขียนสิ เขียนบทกวีที่งดงาม


บทกวีหวานอุ่นละมุนละไม
ออกจากใจส่งไปอีกใจหนึ่ง
เรียงร้อยถ้อยคำที่ลึกซึ้ง
ตราตรึงหัวใจให้หวานหวาม”

"จันทร์วารี"
....

คำของเธอปลุกห้วงใจให้ฝันหวัง ปลุกชีวิตในวิถีอินทริยัง
ปะทุกล้าในรักงาม

เราผ่านชีวิตติดตาม ถ้อยนิยามในความเป็น
โลกรัก บทกวีเราแลเห็น
หนาวร้อนอ่อนแข็งเย็น เปิดประเด็นสนทนา

เรียนรู้คำรักหรรษา
ล่วงคืนวันด้วยขวัญชีวา พกพาเศร้าสุขในฤดี

..เขียนสิ เขียนบทกวีที่งดงาม

เพราะความรักนั้นงดงาม
จึงมีบทกวีที่งดงาม..

แท้ในความเป็น,ไม่ต้องถาม ความรักนั้นงดงามเสมอ
คือเธอ คือฉันในโลกที่พบเจอ
พบเธอ พบโลก พบชีวิต

เธอถาม ฉันเขียนอะไร ยังไง
ไหนฉันทลักษณ์
ฉันบอกเขียนตามที่ประจักษ์ ฉันทลักษณ์มีในความเป็น
เธออ่าน, กับคำถาม- ทำไมเขียนอย่างแล้งเข็ญ
บริภาษหญิงสาว !
ฉันบอก,- เป็นเรื่องราวในกาลก่อน

เธอบอก,- มองสิ มองความรักให้งดงาม
เขียนสิ เขียนบทกวีที่งดงาม

ฉันกล่าวคำ,- อ่านด้วยใจที่เป็น
ความรักงดงาม ฉันเห็น ฉันจึงเป็นอย่างที่เป็น

เขียนแต่เรื่องความรัก ผู้หญิง
เธอกล่าวว่า,

ฉันบอก ผู้หญิง คืออินทรีย์ คือกำลังแห่งโลก
ทุกข์ สุข ลมโบก โลกคือเธอปรารถนา..


....
เธอคือนักอ่าน ผู้อ่านหนังสือและโลก
ความทุกข์ สุขสร้างหัวใจเธอให้เป็นกวี
เธอเป็นกวี
เพราะเธอมองความรักงดงาม
เธอจึงเขียนกวีที่งดงามในหัวใจ


..........

ถวิลกถา- ถ้อยคำของเธอที่บอกแก่ฉันใน 4 วาระค่ำคืนชีวิต

มาเป็นนามะแห่งการเขียน

มาเป็นนามะแห่งการเขียน


บดเอื้องวิเศษฝัน ณ คืนวันอุระราน
ล่วงแล้วและเนิ่นนาน กาละผ่านจระไกล
แสวงหาปทสกนธ์ ผิจะดลวลีใด
เอาเถอะ ! จะเป็นไร อัชชะนี้จะขอเขียน
สืบต่อวจนะสนอง ขณะลองจะร่ำเรียน
เพื่อไต่ ฤ วนเวียน กวิเษียรระพรายพรรณ
ประดิษฐ์กถาและกวี สถิตที่พิมานบรรพณ์
ด้วยขนบที่น้อมสรรค์ นระจำสนธิการ์
มาพวกคณะเรา กะประเด็นแสดงมา
ให้รู้ที ทีเถิดว่า มนะเราก็มีคำ
จะเสนอและสนอง ระยะทำนองของธรรม
ให้โลกยินสุรจำ คเนหมาย ณ กายเรา ฯ



ศุปรีชา ธรรมาภิมณฑ์/ ๑๘ กรกฎา. ๒๕๓๘
...........................

เขียนข้าว เขียนคำ

เขียนข้าว เขียนคำ

๏ ยกข้อต่อเติม ขีดเขียนส่งเสริม อักขระกถา
ประดับในโลกา เพื่อเพื่อนชนา ในทุกทิศา
ได้คิดกับตัว
๏ เขียนข้าวเขียนคำ เพียงได้จดจำ ไม่ให้มัวเมา
ในโลกธรรม หวั่นไหวระรัว แสยงเกรงกลัว
กับมายาชีวิต
๏ มื้อนี้อีกวัน ตัวตนของฉัน แต่งตั้งความคิด
สร้างรูปอักษร กาพย์กลอนวิจิตร จะถูกหรือผิด
ก็ตรองลองดู
๏ ชาวเราเขียนข้าว จิตใจโน้มน้าว ไม่ได้อดสู
เขียนข้าวทุกวัน เรียนจำเป็นครู เพื่อสมความรู้
ด้วยใจพากเพียร
๏ พิมพ์สาส์น “กถา” หมายเหตุเวลา วันคืนจำเนียร
แรกปีสามห้า เหมือนบ้าปวดเศียร ตัวตนวนเวียน
กับฝันวันวาร
๏ มาปีสามแปด หลังเรื่อแสงแดด ก็คิดเสริมสาน
จัดพิมพ์ “เส้นฟาง” ด้วยใจบ่ย้าน ด้วยฝันเบิกบาน
จักไปให้ถึง
๏ อีกทั้ง “เขียนข้าว” ก็จำนรรค์เว้า เขียนให้คะนึง
เพื่อเพื่อนทุกคน ได้คิดรำพึง ตอกใจตราตรึง
ก้าวไปข้างหน้า
๏ “สะดือไกวัลย์” ช่างหฤหรรษ์ ท่านพี่คิดกล้า
แหวกทวนกระแส แห่ร้องเจิดจ้า คิดไว้ใช่ช้า
แฟนธรรมมากมาย
๏ มาถึง “คำกรอง” ฝากเป็นคำร้อง ออกจะคมคาย
เขียนกันทุกวัน ฉันท์โคลงมิวาย กาพย์กลอนวางราย
เคียงขวัญชีวา
๏ ชีวิตแสวงหน ขบคิดด้วยตน บนพื้นโลกหล้า
กำหนดรู้มายา ด้วยจิตดวงกล้า ไม่สยบทบท้า
รู้เห็นเช่นนั้นฯ


คุรุการ เลขธรรม/ ๓๑ ตุลา. ๒๕๓๘

.....................

ฤดูฝน ฤดีเดียว



ฤดูฝน ฤดีเดียว



ละอองฝนโปรยจากฟ้า เมฆละออง
ฤดูลมฉํ่าฝนปน แห่งฤดู
ฤดีอิ่มเอมธรรมผล ปริ่มฤดี
ขณะหนึ่งชีวีระลึกรู้ เพ่งธรรมเพียงขณะ

กิร, สดับมาเรื่องฝน เปียกใจ
เทวษละอองรดอาบใน หมองชื้น
ทุรนทุกข์ทุรายไป ตัด-เกี่ยว
สุขธรรมห่าง,-จิตตื้น เปลี่ยวร้างฤดีในฤดู

ละอองฝนพรมปรอยร่วง รดฤดี
ฤดีพรํ่าธรรมทีปนี ตระหนักรู้
ฤดูขณะหนึ่ง ขณะหนึ่งมี ขณะหนึ่ง
ขณะซึ่งพระธรรมผู้ อยู่แท้ฤดูฤดีเดียวฯ

ในเพิงดาว



ในเพิงดาว

ตารา สาระ
มีน. ๒๕๓๙

โอบฟ้า ฟ้าคํ่า,- ริมขนำดาว
ก่อไฟ สุมฟืน- ฟื้นเรื่องราว
ที่ทุกข์เศร้า ระทม

เพรียกสำนึก ตรึกสำเหนียก- บ่ม
ความชื้นแห่งขื่นขม
รมความคิด

ตระกายจันทร์ ไต่ดวงเดือนผิด
จับเกาะ เลาะเลี้ยวสู่ทิศ
ลึกมืดมน

กระพริบ กระพริบ ริบหรี่ บน-
เปลวไฟ สับส่ายวน
ติดเปรี๊ยะ ! เปรี๊ยะ ! ลน ! ปนทาง !?

กถาเพื่อนคำ

ต้อนรับสู่ถ้อยคำเขียนข้าว
หมายเหตุแห่งเรื่องราว ณ ยุคสมัย
บานแผนกแยกรับ สดับนัย
ด้วยหทัยกล่าวธรรม สมันตา


Copyright©2007 kurukarn.blogspot.com
by editorship@hotmail.com
Powered By Blogger