วันพฤหัสบดีที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2550

อยู่กับชีวิต : ปัจจยการ ๑๑ แห่งชีวิต (๑)

อยู่กับชีวิต : ปัจจยการ ๑๑ แห่งชีวิต



๑. อิริยาบถชีวิต : ยืน เดิน นั่ง นอน / สติปัฏฐาน ๔

ในวิถีการดำเนินชีวิตแต่ละวันของมนุษย์ ๆ เราใช้รูป- สรีระร่างกายเคลื่อนไหว กระทำการต่างๆ โดยมีจิตธรรม ความรู้สึก นึก คิด กำหนดความเป็นไป
ธรรม คือสิ่งที่ทำให้มนุษย์ เป็นอยู่ในขณะนั้นๆ มี ๒ อย่าง คือ สติ – ความระลึกได้ กับ สัมปชัญญะ –ความรู้ตัว หากในขณะใดที่เรารู้สึกตัวทั่วพร้อม เราจักดำเนินชีวิตได้ดี
ที่ที่จักทำให้เรามีสติสัมปชัญญะ มี ๔ คือ กาย- ร่างกายตัวเรา เวทนา- ความรู้สึกเป็นสุขเป็นทุกข์ เฉยๆ จิต- ความรู้สึก นึก คิด ธรรม- สิ่งทั้งปวง หรือสรรพสิ่งที่เราเห็นในรูปวัตถุ และที่เราเห็นด้วยใจ
ในขณะที่เราเคลื่อนไหว ยืน เดิน นั่ง นอน เราใคร่ครวญเห็นในกาย เวทนา จิต ธรรม รู้ว่ามีความเป็นไปอย่างไร จักทำให้เราเข้าใจชีวิต เข้าใจปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ทั้งในอดีต ขณะปัจจุบัน และที่ใกล้จะเกิดขึ้น และจักทำให้มีความสามารถในการจัดการ
นี่จึงเป็นที่มาของการให้ทำสมาธิภาวนา เพื่อทำให้จิตใจเราบริสุทธิ์ไม่เศร้าหมอง
มีความตั้งใจมั่น จนทำให้เหมาะกับการที่จะกระทำการงานต่างๆ ในชีวิตได้อย่างมีสุข

มีบทภาวนามาฝากเพื่อการเป็นอยู่ในอิริยาบถชีวิต /-

“....หายใจออก, ฉันรู้ว่าฉันกำลังหายใจออก, เข้า/ออก,
หายใจเข้า, ฉันเห็นตนเองเป็นดังดอกไม้,
หายใจออก, ฉันรู้สึกสดชื่น, ดอกไม้/สดชื่น,
หายใจเข้า, ฉันสงบกาย วาจา ใจ,
หายใจออก, ฉันยิ้ม, สงบ/ยิ้ม,
เข้า/ออก, ดอกไม้/สดชื่น, สงบ/ยิ้ม....”


“....การก้าวของฉัน, คือการกระทำที่สำคัญที่สุด,
อนาคตของฉันและโลก, ขึ้นอยู่กับก้าวแต่ละก้าวของฉัน,
การยืน เดิน นั่ง นอน, กิน ดื่ม, ทำ พูด คิดของฉัน, คือทางแห่งการเรียนรู้,
ดอกบัวบาน จากเท้าแต่ละก้าว, ดอกบัวบาน จากเท้าแต่ละก้าว,
ฉันเดินบนโลกสีเขียว, เพื่อสันติสุขแห่งสรรพสัตว์....”

-------------------------------------------------------------------------------------
ธรรมมีอุปการะมาก ๒
(ธรรมที่เกื้อกูลในกิจหรือในการทำความดีทุกอย่าง —virtues of great assistance)
๑. สติ (ความระลึกได้, นึกได้, สำนึกอยู่ไม่เผลอ — mindfulness)
๒. สัมปชัญญะ (ความรู้ชัด, รู้ชัดสิ่งที่นึกได้, ตระหนัก, เข้าใจชัดตามความเป็นจริง —clear comprehension)
ที.ปา.๑๑/๓๗๘/๒๙๐; องฺ.ทุก.๒๐/๔๒๔/๑๑๙

สติปัฏฐาน ๔
(ที่ตั้งของสติ, การตั้งสติกำหนดพิจารณาสิ่งทั้งหลายให้รู้เห็นตามความเป็นจริง คือ ตามที่สิ่งนั้นๆ มันเป็นของมันเอง - foundations of mindfulness)
๑. กายานุปัสสนา สติปัฏฐาน (การตั้งสติกำหนดพิจารณากายให้รู้เห็นตามเป็นจริง ว่า เป็นเพียงกาย ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา - contemplation of the body; mindfulness as regards the body) ท่านจำแนกปฏิบัติไว้หลายอย่าง คือ อานาปานสติ กำหนดลมหายใจ ๑ อิริยาบถ กำหนดรู้ทันอิริยาบถ ๑ สัมปชัญญะ สร้างสัมปชัญญะในการกระทำความเคลื่อนไหว้ทุกอย่าง ๑ ปฏิกูลมนสิการ พิจารณาส่วนประกอบอันไม่สะอาดทั้งหลายที่ประชุมเข้าเป็นร่างกายนี้ ๑ ธาตุมนสิการ พิจารณาเห็นร่างกายของตนโดยสักว่าเป็นธาตุแต่ละอย่างๆ ๑ นวสีวถิกา พิจารณาซากศพในสภาพต่างๆ อันแปลกกันไปใน ๙ ระยะเวลา ให้เห็นคติธรรมดาของร่างกาย ของผู้อื่นเช่นใด ของตนก็จักเป็นเช่นนั้น ๑
๒. เวทนานุปัสสนา สติปัฏฐาน (การตั้งสติกำหนดพิจารณาเวทนา ให้รู้เห็นตามเป็นจริงว่า เป็นแต่เพียงเวทนา ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา - contemplation of feelings; mindfulness as regards feelings) คือ มีสติรู้ชัดเวทนาอันเป็นสุขก็ดี ทุกข์ก็ดี เฉยๆ ก็ดี ทั้งที่เป็นสามิส และเป็นนิรามิสตามที่เป็นไปอยู่ในขณะนั้นๆ
๓. จิตตานุปัสสนา สติปัฏฐาน (การตั้งสติกำหนดพิจารณาจิต ให้รู้เห็นตามเป็นจริงว่า เป็นแต่เพียงจิต ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา - contemplation of mind; mindfulness as regards thoughts) คือ มีสติรู้ชัดจิตของตนที่มีราคะ ไม่มีราคะ มีโทสะ ไม่มีโทสะ มีโมหะ ไม่มีโมหะ เศร้าหมองหรือผ่องแผ้ว ฟุ้งซ่านหรือเป็นสมาธิ ฯลฯ อย่างไรๆ ตามที่เป็นไปอยู่ในขณะนั้นๆ
๔. ธัมมานุปัสสนา สติปัฏฐาน (การตั้งสติกำหนดพิจารณาธรรม ให้รู้เห็นตามเป็นจริงว่า เป็นแต่เพียงธรรม ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา - contemplation of mind-objects; mindfulness as regards ideas) คือ มีสติรู้ชัดธรรมทั้งหลาย ได้แก่ นิวรณ์ ๕ ขันธ์ ๕ อายตนะ ๑๒ โพชฌงค์ ๗ อริยสัจ ๔ ว่าคืออะไร เป็นอย่างไร มีในตนหรือไม่ เกิดขึ้น เจริญบริบูรณ์ และดับไปได้อย่างไร เป็นต้น ตามที่เป็นจริงของมันอย่างนั้นๆ.
ที.ม.๑๐/๒๗๓-๓๐๐/๓๒๕-๓๕๑.

ไม่มีความคิดเห็น:

กถาเพื่อนคำ

ต้อนรับสู่ถ้อยคำเขียนข้าว
หมายเหตุแห่งเรื่องราว ณ ยุคสมัย
บานแผนกแยกรับ สดับนัย
ด้วยหทัยกล่าวธรรม สมันตา


Copyright©2007 kurukarn.blogspot.com
by editorship@hotmail.com
Powered By Blogger