วันเสาร์ที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2550

ความงาม

วรกิจ วรเปโม
ส. 3 สิงห์. 45/ ใต้ร่มไทร


“ความงาม” ในทัศนะของพระพุทธศาสนา
เพ่งเอาความงามที่เกิดจาก “ธรรม” คือธาตุแห่งความเป็นทั้งปวง
ทั้งที่เป็นรูปธรรมและนามธรรม
ความงามทั้งรูปและนามนั้น มีสภาวะเป็นของดั้งเดิม
มีอยู่แล้วอย่างนั้นเอง (ฐิตา ว สา ธาตุ)

การเข้าไปเกี่ยวข้องรับรู้กับสิ่งที่เป็นรูปและนามนั้น
ขึ้นอยู่กับสภาวะจิตที่เคลื่อนเปลี่ยนในขณะนั้นๆ

ดังนั้น “ความงาม” ในทัศนะพุทธ
น่าจะอยู่ที่กระบวนการรับรู้ของจิตและวัตถุที่กระทบ

วัตถุธรรม ทั้งที่เป็นตามธรรมชาติและที่มนุษย์ปรุงแต่งขึ้น
เป็นธาตุที่มีความงามตามสภาวะธรรม

จิตธรรม เป็นธรรมชาติภายในที่มีสภาพเคลื่อนเปลี่ยนไว
และปรุงแต่งความรู้สึกนึกคิด

ผัสสธรรม คือตัวกลางที่ทำการให้วัตถุกับจิตสัมพัทธ์กัน

ดังนั้น การกระทบกันระหว่างอายตนะภายนอกกับอายตนะภายใน
คือขั้นตอนของการรับรู้ ความงาม ความไม่งามของมนุษย์

กล่าวถึงที่สุดแล้ว การจะรู้ว่า “ความงาม” ได้เกิดขึ้นแล้วนั้น
จึงขึ้นอยู่กับการรับรู้ของแต่ละปัจเจกที่จะมีวิญญาณแห่งการรับรู้ในระดับใดบ้าง
ความงาม คือสิ่งที่ดำรงอยู่แล้วอย่างนั้น ทั้งภายในและภายนอก
เป็นธรรมธาตุ เป็นธรรมนิยาม เป็นธรรมสัจจะ

พระพุทธองค์ ตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย เธอจงกล่าวธรรม
ให้งดงามในเบื้องต้น ให้งดงามในท่ามกลาง และให้งดงามในที่สุด

พระนิพพาน ก็เป็นความงาม
คือความงดงาม ความดีงาม ความชื่นบาน
และคือ ค ว า ม ส ง บ สุ ข.

ไม่มีความคิดเห็น:

กถาเพื่อนคำ

ต้อนรับสู่ถ้อยคำเขียนข้าว
หมายเหตุแห่งเรื่องราว ณ ยุคสมัย
บานแผนกแยกรับ สดับนัย
ด้วยหทัยกล่าวธรรม สมันตา


Copyright©2007 kurukarn.blogspot.com
by editorship@hotmail.com
Powered By Blogger