วันพฤหัสบดีที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2550

สำนักวัดเขาอ้อ เมืองพัทลุง:มหาวิชชาไลยพุทธาคม แบบพราหมณ์-ฮินดู พุทธมหายานศรีวิไชยในอดีตกับปัจจุบันที่คงอยู่ในความไหวเปลี่ยน



สำนักวัดเขาอ้อ เมืองพัทลุง
ตักกสิลาทางไสยเวทแห่งภาคใต้สยามประเทศไทย
: มหาวิชชาไลยพุทธาคม แบบพราหมณ์-ฮินดู พุทธมหายานศรีวิไชยในอดีต
กับปัจจุบันที่คงอยู่ในความไหวเปลี่ยน

โดย เลข อักขระ

(ทุ) เขาอ้อคดีศึกษา ๑
: ประวัติศาสตร์และโบราณคดี

วัดเขาอ้อ เป็นวัดเก่าแก่โบราณวัดหนึ่ง ที่มีความสำคัญทางด้านศิลปะและโบราณคดี ตั้งอยู่ หมู่ที่ ๓ ตำบลมะกอกเหนือ อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง ชาวพัทลุงเชื่อกันว่าเป็นวัดที่ศักดิ์สิทธิ์ และมีชื่อเสียงทางด้านความเชื่อทางไสยศาสตร์มาตั้งแต่โบราณกาล
นับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ท่านเจ้าอาวาสวัดเขาอ้อหลายต่อหลายรูป ล้วนแต่เป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องไสยศาสตร์ วิชาการ เวทมนตร์ และคาถาต่างๆ จึงได้รับการรักษาถ่ายทอดสืบต่อกันมามิได้ขาดสาย จนเป็นที่เลื่องลือไปทั่วทุกสารทิศ
ความเชื่อทางไสยศาสตร์ของวัดเขาอ้อที่นิยมใช้ประกอบพิธีกรรม ที่สำคัญมีอยู่ ๔ พิธี คือ
๑. พิธีเสกว่าน เสกยาให้กิน ทำโดยการนำว่านที่เชื่อว่ามีสรรพคุณทางด้านอยู่ยง คงกระพัน มาลงอักขระเลขยันต์ แล้วนำไปปลุกเสกด้วยอาคมตามหลักไสยศาสตร์ หลังเสร็จพิธีจะนำมาแจกจ่ายให้กิน
๒. พิธีหุงข้าวเหนียวดำ ทำโดยนำเครื่องยาสมุนไพร หรือว่านต่างๆ ไม่น้อยกว่า ๑๐๘ ชนิด มาต้มเอาน้ำยาใช้หุงกับข้าวเหนียวดำ เมื่อข้าวเหนียวสุกแล้วนำไปเข้าพิธีปลุกเสก ก่อนนำมาป้อนให้กิน
๓. พิธีเสกน้ำมันงาดิบ ทำโดยใช้นำน้ำมันงาดิบหรือน้ำมันยางแดงผสมว่าน พระอาจารย์ผู้ประกอบพิธีนั่งบริกรรมคาถาจนน้ำมันแห้ง แล้วจึงนำมาป้อนให้กิน
๔. พิธีแช่ว่านยา ทำโดยให้ผู้ต้องการเข้าประกอบพิธีกรรม ลงไปนอนแช่ในน้ำว่านยา ที่ได้ปลุกเสกตามหลักไสยศาสตร์ จากพระอาจารย์ผู้ประกอบพิธีกรรมมาแล้ว
เชื่อกันว่าศิษย์จากสำนักวัดเขาอ้อที่ได้เล่าเรียนวิชา และผ่านพิธีกรรมต่างๆ ทางไสยศาสตร์ที่กล่าวมาแล้วนั้น ย่อมมีพลังร่างกายที่คงกระพัน

สำนักวัดเขาอ้อ ตามตำนานกล่าวว่า ภูเขาอ้อเป็นบรรพตแห่งพราหมณ์หรือฤาษีผู้ทรงวิทยาคุณใช้เป็นที่พำนักเพื่อบำเพ็ญพรตและตั้งสำนักถ่ายทอดวิชาความรู้แก่ผู้แสวงหาวิชาเพื่อใช้ในการปกครองและเลี้ยงชีพ ตามตำราพระธรรมศาสตร์ ตำราอาถรรพเวท ตำราพิชัยสงครามและอายุรเวท ต่อมาเมื่ออิทธิพลของพราหมณ์ลดบทบาทลง วิชาของเขาอ้อได้ถูกถ่ายทอดสู่พระภิกษุ
หลักฐานทางประวัติศาสตร์วัดเขาอ้อ มีปรากฏในพงศาวดารเมืองพัทลุง ในเรื่องการตั้งเมืองพัทลุง ต่อมาอาจารย์ชุม ไชยคีรี ได้เรียบเรียงไว้ในหนังสือ “พระครูสังฆวิจารณ์ฉัททันต์บรรพต (อาจารย์ทองเฒ่า) อาจารย์ผู้เฒ่าเขาอ้อ” และมีกล่าวถึงวีรกรรมของท่านมหาช่วย คราวสงครามเก้าทัพต้นรัตนโกสินทร์ ในหนังสือ “ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๑๕, จดหมายเหตุของหลวงอุดมสมบัติ ต่อมาได้มีการจัดทำหลักฐานล่าสุดในสารานุกรมวัฒนธรรมท้องถิ่นภาคใต้ โดยสถาบันทักษิณคดีศึกษา มหาวิทยาลัยทักษิณ
หลักฐานทางโบราณคดีภายในวัดเขาอ้อภูเขาอันศักดิ์สิทธิ์ คือ ถ้ำฉัททันต์ พระพุทธรูปภายในถ้ำ ซากเจดีย์ ซากรอยพระพุทธบาทบนยอดเขา พระพุทธรูปหล่อด้วยสำริด ๑ องค์ และหล่อด้วยเงิน ๑ องค์ ชาวบ้านขนานพระนามเรียกกันว่า “เจ้าฟ้าอิ่ม เจ้าฟ้าดอกมะเดื่อ” อุโบสถมหาอุด รูปปั้นพระอาจารย์ทองหูยานภายในถ้ำ และ “เต้พ่อท่าน” (กุฏิเจ้าอาวาส) กับ "บัว" (เจดีย์บรรจุกระดูกอดีตเจ้าอาวาส) ซึ่งมาในสมัยหลวงพ่อกลั่น เป็นเจ้าอาวาส ท่านได้บูรณปฏิสังขรณ์ใหม่ทั้งหมด

(สะ) เขาอ้อคดีศึกษา ๒
: พระอาจารย์และศิษยานุศิษย์

วัดเขาอ้อ เมืองพัทลุง เป็นแหล่งวิทยาคมทางไสยศาสตร์ ที่มีชื่อเสียงโด่งดังมา ตั้งแต่สมัยโบราณ พระเกจิอาจารย์ผู้สืบต่อวิชาทางไสยศาสตร์ ต่างก็เป็นที่พึ่งที่เคารพศรัทธาของประชาชนทั่วไป เช่น พระอาจารย์ทอง สมเด็จเจ้าจอมทอง พระอาจารย์พรมทอง พระอาจารย์ไชยทอง พระอาจารย์ทองจันทร์ พระอาจารย์ทองในถ้ำ พระอาจารย์ทองหน้าถ้ำ พระอาจารย์สมภารทอง
จนมาถึงยุครัตนโกสินทร์ พระอาจารย์ที่เป็นบรมครู คือ
พระอาจารย์พระครูสังฆวิจารณ์ฉัททันต์บรรพต (พระอาจารย์ทองเฒ่า)
ศิษย์พระอาจารย์ทองเฒ่า ได้แก่
พระอาจารย์ปาล ปาลธัมโม วัดเขาอ้อ
พระครูสิทธยาภิรัต (พระอาจารย์เอียด) วัดดอนศาลา
พระครูรัตนาภิรัต (พระอาจารย์เน) วัดควนปันตาราม
พระอาจารย์เกลี้ยง วัดดอนศาลา
พระอาจารย์มืด วัดป่าตอ
พระอาจารย์เปรม ติสสโร วัดวิหารสูง
พระครูพิศิษฐ์บุญญสาร (พระอาจารย์ปลอด) วัดหัวป่า ระโนด
พระอาจารย์เล็ก วัดประดู่เรียง
พระอาจารย์หมุน วัดเขาแดง
พระครูแก้ว วัดโคกโดน
พระอาจารย์นำ แก้วจันทร์ วัดดอนศาลา
หลวงปู่ฤทธิ์ อิสสโร วัดบ้านสวน
หลวงพ่อครน วัดลานแซะ
หลวงปู่แก้ว วัดท่าสำเภาใต้
หลวงปู่แต้ม วัดท่าสำเภาเหนือ
ฯลฯ
และที่เป็นศิษย์คฤหัสถ์ที่คนทั่วไปรู้จักกันดี ได้แก่
พระยาอภัยลำปำ
พล.ต.ต.ขุนพันธรักษ์ราชเดช
อาจารย์แจ้ง เพชรรัตน์
อาจารย์เปรม ฯลฯ

ศิษย์ที่สืบทอดต่อมา ได้แก่
พระครูพิพัฒน์สิริธร (พระอาจารย์คง สิริมโต) วัดบ้านสวน
พระครูกาชาด (พระอาจารย์บุญทอง) วัดดอนศาลา
พระครูสังฆรักษ์เอียด วัดโคกแย้ม
พระครูสิริวัฒนการ (พระอาจารย์ศรีเงิน อาภาธโร) วัดดอนศาลา
พระครูพิพิธวรกิจ (พระอาจารย์คล้อย อโนโม) วัดภูเขาทอง
พระครูประสิทธิวราคม (พระอาจารย์เทพ) วัดประดู่เรียง
พระครูประจักษ์วิหารคุณ (พระอาจารย์เศียร) วัดวิหารสูง
พระครูวิโรจน์ศาสนกิจ (พระอาจารย์ช่วง) วัดควนปันตาราม
พระครูวิจิตรธรรมภาณ (พระอาจารย์สลับ) วัดป่าตอ
พระอาจารย์มหาอุทัย วัดดอนศาลา
พระครูขันตยาภรณ์ (พระอาจารย์พรหม ขันติโก) วัดบ้านสวน
พระครูอดุลธรรมกิตติ์ (หลวงพ่อกลั่น) วัดเขาอ้อ
พระครูสุธรรมวัฒน์ วัดพิกุลทอง
พระอาจารย์มหาจรูญ
พระอาจารย์มหาชวน วัดโคกเนียน
พระครูวิจารวรคุณ (พระอาจารย์ประดับ) วัดป่าตอ
พระครูถิรธรรมานันท์ (พระอาจารย์เงิน) วัดโพรงงู
ฯลฯ
และที่เป็นศิษย์คฤหัสถ์ ได้แก่
อาจารย์ชุม ไชยคีรี
อาจารย์เริ่ม เขมะชัยเวช
อาจารย์ประจวบ คงเหลือ
อาจารย์เปลี่ยน หัสทยานนท์ ฯลฯ

มาถึงศิษย์รุ่นใหม่ปัจจุบัน ได้แก่
พระครูปัญญาธรรมนิเทศ (อาจารย์บุญราย) วัดสุวรรณคีรี
พระปลัดสมคิด วัดดอนศาลา
พระอาจารย์มหาศุภกร (อาจารย์ดาว) วัดบ้านสวน
พระครูวิจิตรกิจจาภรณ์ (อาจารย์เสถียร) วัดโคกโดน
พระครูโสภณกิตยาทร (อาจารย์รรรสิริ) วัดบ้านสวน
พระครูโสภณปัญญาสาร (อาจารย์ศัลย์) วัดนิคมพัฒนาราม
พระครูอุทัย อุทโย วัดวิหารสูง
พระครูสมุห์วิชาญชัย วัดพะโค๊ะ
พระอาจารย์มหาสุวรรณ (อาจารย์ทอง) วัดบ้านสวน
หลวงพ่อห้อง วัดเขาอ้อ
ฯลฯ

พระอาจารย์และศิษยานุศิษย์ ที่กล่าวถึงนี้เพียงส่วนหนึ่งเท่าที่ผู้เขียนทบทวนรำลึกได้เท่านั้น เพราะนั่งนับทบทวนเอาตามรายชื่อและเรียงลำดับพระอาจารย์และศิษยานุศิษย์ที่เรียนสืบต่อสายตรงกันมาจากเขาอ้อ และกล่าวได้ว่า ศิษย์สายเขาอ้อ ทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์มีมากมายจนไม่อาจนับได้ถ้วน ทั้งในจังหวัดพัทลุง จังหวัดใกล้เคียง และอยู่ทั่วในผืนแผ่นดินสยามประเทศไทยและต่างประเทศ เพราะมีการสืบต่อวิชากันทั้งแบบสายตรงและแบบครูพักลักจำ เรียนต่อๆ กันไปจากบุคคลหนึ่งสู่อีกบุคคลหนึ่ง
พระเกจิอาจารย์สายเขาอ้อ ศิษย์สายเขาอ้อ และตำหรับวิชาเขาอ้อ จึงแผ่กระจายไปทั่วทุกสารทิศนับแต่โบราณกาลตราบเท่าจนปัจจุบัน

(มะ) เขาอ้อคดีศึกษา ๓
: การศึกษาเรียนรู้และยุทธศาสตร์ในเป้าหมาย

การสืบทอดวิชาสายเขาอ้อ สืบต่อกันมาโดยศิษย์ฝ่ายบรรพชิตและศิษย์ฝ่ายคฤหัสถ์ โดยฝ่ายบรรพชิตนั้น จะเล่าเรียนต่อจากพระอุปัชฌาจารย์ พระกรรมวาจาจารย์ พระอนุสาวนาจารย์ และพระอาจารย์ โดยมีศิษย์ฝ่ายคฤหัสถ์เล่าเรียนคู่กันมา เรียกว่า ทั้งพระและชาวบ้าน เรียนกันมาโดยแบบพ่อสอนลูก พี่สอนน้อง ให้การศึกษาเรียนรู้ซึ่งกันและกัน บางท่านเรียนให้สำเร็จอิทธิทั้งทางวัตถุและธรรม บางท่านก็ไม่ได้เปิดเผยตัว เรียนค้นคว้าแล้วนิ่งเสีย บ้างก็เรียนจนเข้าสู่วิปัสสนากรรมฐานไปฝ่ายเดียว แต่ที่สำคัญยิ่งคือ เรียนไว้เพื่อทำตนเองและช่วยเหลือผู้อื่นให้พ้นทุกข์


(นิ) เขาอ้อคดีศึกษา ๔
: วิชาพุทธาคมเขาอ้อ ไสยศาสตร์บริสุทธิ์
พุทธ พราหมณ์ เพื่อชีวิตโลกนี้ โลกหน้าและพ้นจากโลก

วิชาสำคัญของสำนักเขาอ้อ แบ่งได้เป็น ๓ สาขา ได้แก่
๑. วิชาไสยเวท ได้แก่ การหุงน้ำมันงา การหุงข้าวเหนียวดำ การเสกว่านยา
การอาบแช่ว่านยา การสักยันต์ด้วยดินสอดำ การลงตะกรุด ๑ ดอก ๕ ดอก ๑๖ ดอก วิชาฤกษ์ยาม และการสร้างอิทธิวัตถุมงคลต่างๆ
๒. วิชาแพทย์โบราณ ได้แก่ การทำผงยาวาสนา การหุงต้มยารักษาโรค
๓. วิชาพุทธาคม ซึ่งเป็นสุดยอดวิชาของเขาอ้อ ที่ครอบคลุมศาสตร์ทั้งปวง
และคงความสำเร็จอยู่ในการถือพระคาถาและอิทธิวัตถุมงคลทั้งหมด เป็นปริศนาธรรมที่บุคคลเข้าถึงได้ด้วยใจสัมมาทิฏฐิ และถือการประพฤติเป็นสัมมาปฏิบัติตามพระอริยมรรคแห่งองค์บรมครูสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
วิชาพุทธาคม เป็นญาณวิทยา และสัญญลักษณ์วิทยา ที่อยู่ในรูปของอักขระพระคาถา เลขยันต์ ในมวลธาตุสรรพสารที่ใช้ประกอบสร้างอิทธิวัตถุ บุคคลผู้เข้าถึงธาตุทั้งปวง จักเข้าถึงธรรมทั้งปวง นั่นก็คือ ถึงความศักดิ์สิทธิ์ทั้งหมด ได้รับอิทธิผลอันเป็นประโยชน์มหาศาล สูงสุด

ความศักดิ์สิทธิ์แห่งพระคาถา
ความศักดิ์สิทธิ์แห่งอิทธิวัตถุมงคล
ความศักดิ์สิทธิ์แห่งธาตุและธรรมทั้งปวง
คือ ความศักดิ์สิทธิ์แห่งสัมมาทิฏฐิและสัมมาปฏิบัติของบุคคล

ธาตุ คือ ธรรมทั้งปวง มีความศักดิ์สิทธิ์อยู่ในตัว
ผู้ถือธาตุ ถือธรรมย่อมประจักษ์ในอิทธิ
---------------------

*บทความนี้ขอน้อมบูชาพระบริสุทธิคุณ พระปัญญาธิคุณ และพระมหากรุณาคุณแห่งบรมครูสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คุณพระมาตาปิตุ และคุณแห่งบูรพาจารย์สายเขาอ้อทุกท่าน

“เลข อักขระ”
วันพระ ศุกร์ที่ ๘ มิถุนา. ๒๕๕๐ แรม ๘ ค่ำเดือน ๗

ไม่มีความคิดเห็น:

กถาเพื่อนคำ

ต้อนรับสู่ถ้อยคำเขียนข้าว
หมายเหตุแห่งเรื่องราว ณ ยุคสมัย
บานแผนกแยกรับ สดับนัย
ด้วยหทัยกล่าวธรรม สมันตา


Copyright©2007 kurukarn.blogspot.com
by editorship@hotmail.com
Powered By Blogger